เจมส์ กลีก (James Gleick) ฉายภาพอย่างแจ่มชัดว่า การค้นพบของนิวตันมิได้เกิดจากการ ‘ปิ๊งแวบ’ แบบปัจจุบันทันด่วนดังที่ภาพลูกแอปเปิลตกชี้ชวนให้เราคิด หากแต่เป็นส่วนผสมระหว่างพรสวรรค์กับพรแสวง อัจฉริยภาพและความวิริยะอุตสาหะอันยาวนานและไม่เคยหยุดนิ่งตราบวันตาย ส่วนสมญา “บิดาแห่งวิทยาศาสตร์สมัยใหม่” นั้นก็กลบเกลื่อนลักษณะ ‘ไม่เป็นวิทยาศาสตร์’ (ในความหมายสมัยใหม่ที่เราใช้) ของนิวตันในหลายแง่มุม ตั้งแต่การเป็นนักเล่นแร่แปรธาตุตัวยง การเป็นผู้ศรัทธาในศาสนาคริสต์อย่างแรงกล้า ทว่ามีความคิดที่ถูกมองว่านอกรีตและดังนั้นเขาจึงต้องปิดบัง ไปจนถึงความสนใจในไสยศาสตร์ และการลุแก่อำนาจจนโทสจริตเข้าครอบงำ
เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่มันสมองของคนสันโดษหนึ่งคน ชายผู้แทบไม่เดินทางไปไหนเลย จะมีจินตนาการทางวิทยาศาสตร์อย่างไร้ขอบเขต นิวตันมองเห็นสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น มองเห็นพลวัตทั้งมหภาคในระยะทางไกลโพ้นจากพื้นผิวโลก และจุลภาคขนาดเล็กกว่าตาเห็น เขาไม่เพียงแต่ค้นพบกฎธรรมชาติอันเป็นสากล แต่ยังประดิษฐ์เครื่องมือหลายชิ้นสำหรับการค้นหาความลับของธรรมชาติ ทั้งเครื่องมือนามธรรมอย่างแคลคูลัส และเครื่องมือรูปธรรมอย่างกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง
นิวตันเปิดประตูสู่โลกใหม่ให้กับเรา ทว่าตัวเขาเองมิได้ก้าวเท้าข้ามมา เขาเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์และพ่อมด ผู้เลื่อมใสในศาสนาและนักคิดนอกรีต เป็นมนุษย์ปุถุชน และบางคราวก็เกรี้ยวปานอสูรร้าย
.
--- บางส่วนจากคำนำผู้แปล ---