SKU : 9786168300022
รัฐและกฎหมายนั้นสัมพันธ์กันแบบไหนและควรมีที่อยู่ที่ยืนของทั้งอำนาจและปฏิบัติการอย่างไรในสังคมแบบต่างๆ จึงจะทำให้สังคมนั้นรอดได้จริงๆ
หมวดหมู่ : หนังสือ ,  กฎหมาย ,  ประวัติศาสตร์ ,  การเมือง ,  วิชาการ , 
Share
“ในรัฐสมัยใหม่ถือกันว่าการแบ่งแยกการใช้อำนาจรัฐเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อมิให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งของรัฐมีอำนาจมากจนกระทั่งไม่มีผู้ใดเหนี่ยวรั้งการใช้อำนาจขององค์กรนั้นได้”
คำสอนว่าด้วยรัฐและหลักกฎหมายมหาชน (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) หนังสือของอ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์
ตำราที่อธิบายว่ารัฐและกฎหมายนั้นสัมพันธ์กันแบบไหนและควรมีที่อยู่ที่ยืนของทั้งอำนาจและปฏิบัติการอย่างไรในสังคมแบบต่างๆ จึงจะทำให้สังคมนั้นรอดได้จริงๆ
พิมพ์ครั้งที่ 3 แก้ไขเพิ่มเติม พฤษภาคม 2564 โดยสำนักพิมพ์อ่านกฎหมาย
ในเครือสำนักพิมพ์อ่าน
จำนวนหน้า 536 หน้า
ปกอ่อน เย็บกี่ ราคา 500 บาท
คำนำผู้เขียน
หนังสือ คำสอนว่าด้วยรัฐและหลักกฎหมายมหาชน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นการจัดพิมพ์ครั้งที่สาม และเป็นการพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์อ่านกฎหมายนี้ เป็นหนังสือที่ผู้เขียนมุ่งประสงค์ให้เป็นหนังสือนำทางเข้าสู่วิชากฎหมายมหาชนเป็นสำคัญ ดังที่ได้ผู้เขียนได้เคยกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการเขียนหนังสือเล่มนี้ไว้ค่อนข้างละเอียดแล้วในคำนำฉบับพิมพ์ครั้งที่หนึ่ง ในการจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ครั้งนี้ ผู้เขียนได้แก้ไขเพิ่มเติมตลอดจนอธิบายขยายความเนื้อหาเพิ่มขึ้นเกือบทุกบท และได้เพิ่มบทที่ว่าด้วย “ระบบการปกครอง: พิจารณาจากลักษณะการแบ่งแยกอำนาจ” ขึ้นมาอีกบทหนึ่ง
การแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่ผู้เขียนเห็นว่าควรจะชี้แจงไว้ให้เห็นเป็นพิเศษก็คือ ครั้งนี้ผู้เขียนได้เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับลักษณะทางกฎหมายของรัฐไว้อย่างละเอียดมากขึ้น และได้พัฒนาแนวความคิดของผู้เขียนเองเกี่ยวกับนิติบุคคลมหาชนแท้และนิติบุคคลมหาชนเทียม เพื่ออธิบายความเป็นนิติบุคคลมหาชนของหน่วยงานของรัฐในระบบกฎหมายไทยให้ผู้ที่เริ่มศึกษากฎหมายมหาชนเห็นสภาพปัญหาการจัดโครงสร้างหรือระเบียบองค์การแห่งการปกครองรัฐไทยได้ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ ในบทที่ว่าด้วยนิติรัฐ ผู้เขียนได้อธิบายความโดยแยกคำอธิบายนิติรัฐในทางรูปแบบและนิติรัฐในทางเนื้อหาออกจากกัน และขยายความคำอธิบายเกี่ยวกับหลักนิติรัฐให้ละเอียดขึ้น ในบทที่ว่าด้วยหลักประชาธิปไตย ผู้เขียนได้เพิ่มเติมประเด็นเกี่ยวกับความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ที่เริ่มศึกษากฎหมายมหาชนได้ตระหนักถึงสภาพปัญหาที่ปรากฏในระบบการปกครองและกฎหมายไทยตั้งแต่เริ่มต้นเข้าสู่วิชานี้ สำหรับการแก้ไขในบทอื่นๆนั้น แม้จะเป็นการแก้ไขและเพิ่มเติมในประเด็นที่สำคัญหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงหลักกฎหมายมหาชนเข้ากับพัฒนาการทางรัฐธรรมนูญและการเมืองการปกครองของไทย รวมทั้งประเด็นปัญหาร่วมสมัยโดยสังเขป แต่การสรุปประเด็นเหล่านั้นไว้ในคำนำนี้ทั้งหมด จะส่งผลให้คำนำนี้ยืดยาวเกินไป ผู้เขียนคิดว่าผู้อ่านจะสังเกตเห็นได้เองเมื่อได้อ่านถึงส่วนนั้นๆ และเชื่อว่าผู้อ่านน่าจะจับน้ำเสียงและทัศนะของผู้เขียนผ่านตัวอักษรได้เองด้วย
สำหรับในภาคผนวกนั้น ผู้เขียนได้นำเอกสารสองฉบับมาลงพิมพ์ไว้เพื่อประโยชน์แก่การศึกษา คือ คำร้องให้ศาลแขวงดุสิตส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓๐/๒๕๖๓ คำร้องที่กล่าวถึงนี้เป็นคำร้องซึ่งเกิดขึ้นในคดีที่เริ่มต้นจากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งให้นายทหารพระธรรมนูญแจ้งความดำเนินคดีกับผู้เขียนที่กองบังคับการปราบปราม กองกำกับการ ๑ เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๗ ฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว (ภายหลังจากการเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศของ คสช.) โดยคดีดังกล่าวอัยการศาลทหารกรุงเทพได้ฟ้องผู้เขียนต่อศาลทหารกรุงเทพ (ใช้กฎอัยการศึก ๒๒ พ.ค. ๕๗) เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ และต่อมาในช่วงกลางปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้มีการโอนคดีของผู้เขียนจากศาลทหารกรุงเทพไปยังศาลแขวงดุสิต ในขณะที่คดีอยู่ที่ศาลแขวงดุสิตนี้ ผู้เขียนได้ยื่นคำร้องต่อศาลแขวงดุสิตเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ขอให้ศาลแขวงดุสิตส่งคำร้องของผู้เขียนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๙/๒๕๕๗ และ ๔๑/๒๕๕๗ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ศาลแขวงดุสิตจะต้องใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลต่างๆตามที่ปรากฏในคำร้องของผู้เขียน และต่อมาในวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดประชุมปรึกษาพิจารณาคดีและวินิจฉัยว่าประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๙/๒๕๕๗ เรื่องให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๔๑/๒๕๕๗ เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖ โดยมติเอกฉันท์ และวินิจฉัยว่าประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ ๒๙/๒๕๕๗ เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง อีกโสดหนึ่ง โดยมติเสียงข้างมาก
แม้แต่เดิมนั้นผู้เขียนลังเลที่จะนำคำร้องดังกล่าวมาลงตีพิมพ์ในหนังสือทางวิชาการ เนื่องจากคำร้องดังกล่าวเกิดขึ้นในคดีที่ผู้เขียนเป็นจำเลยเองซึ่งพอจะถือว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในขอบเขตส่วนตัวของผู้เขียน จึงอาจจะมีปัญหาความเหมาะสมในการนำมาลงพิมพ์ไว้ในหนังสือที่มุ่งหมายให้เป็นตำราทางวิชาการเล่มนี้ นอกจากนี้ผู้เขียนก็ได้อธิบายเหตุผลในคำร้องเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติไว้แล้วในคำนำหนังสือ ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ตรึกตรองใคร่ครวญแล้ว ผู้เขียนพบว่าอันที่จริงแล้วประเด็นที่ปรากฏในคำร้องก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับกฎหมายมหาชนโดยตรง และเหตุผลที่ให้ไว้ในคำร้องก็เป็นเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับหลักการทางกฎหมายและข้อกฎหมายทั้งสิ้น เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วจึงคิดว่าการนำคำร้องดังกล่าวมาตีพิมพ์ไว้ในภาคผนวก น่าจะเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาและผู้ที่สนใจในวิชาการทางกฎหมายมหาชน อีกทั้งยังจะทำให้ผู้อ่านเห็นประเด็นในคำร้องและเห็นคำตอบของศาลรัฐธรรมนูญที่ปรากฏในคำวินิจฉัยที่ ๓๐/๒๕๖๓ ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้การนำคำร้องของผู้เขียนมาตีพิมพ์ไว้ยังน่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักวิชาการที่สนใจประเด็นปัญหานี้ในการนำคำร้องดังกล่าวไปอ้างอิงในงานทางวิชาการที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้อีกด้วย โดยอาศัยเหตุผลที่ได้กล่าวมาทั้งหมด ผู้เขียนจึงตัดสินใจนำคำร้องดังกล่าวมาตีพิมพ์คู่กันกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในภาคผนวกของหนังสือเล่มนี้
หวังว่าหนังสือ คำสอนว่าด้วยรัฐและหลักกฎหมายมหาชน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้ จะเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาวิชานิติศาสตร์และสาธารณชนที่สนใจในวิชาการทางด้านกฎหมายมหาชน และหวังว่าสักวันหนึ่งหลักกฎหมายมหาชนที่ถูกต้อง เปี่ยมด้วยเหตุผลและความเป็นธรรม จะได้มีที่ยืนที่มั่นคงและเจริญงอกงามในสังคมไทย
วรเจตน์ ภาคีรัตน์
กลางเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๔