หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมบทความแปลที่ศึกษาเรื่องชาติ รัฐชาติ และชาตินิยมในลาตินอเมริกา โดยมุ่งเน้นวิพากษ์ทฤษฎีของเบเนดิกต์ แอนเดอร์สันใน ชุมชนจินตกรรม เป็นหลัก ดังที่กล่าวไว้ในช่วงแรกของบทนี้แล้วว่านักวิชาการที่ศึกษาลาตินอเมริกาจำนวนมาก แม้จะเห็นด้วยกับแอนเดอร์สันในทฤษฎีของเขาในองค์รวมบ้างไม่มากก็น้อย แต่ในเชิงรายละเอียดส่วนที่แอนเดอร์สันอ้างถึงครีโอลลาตินอเมริกาในฐานะที่เป็น “ผู้ริเริ่ม” อุดมการณ์ชาตินิยมนั้น ขัดต่อข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของลาตินอเมริกาอยู่หลายจุด บทความในบทต่อ ๆ ไปนั้นจึงจะชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของทฤษฎีชุมชนจินตกรรมในหลาย ๆ ประเด็นด้วยกัน โดยสามารถกล่าวโดยคร่าว ๆ เป็นสามประเด็น อันได้แก่ (1) บทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์ในลาตินอเมริกาช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 และต้น 19 (2) ความแตกต่างของจิตสำนึกความเป็นชาติในหมู่ครีโอลและในหมู่ประชากรกลุ่มอื่น ๆ และ (3) บทบาทของศาสนาในการสร้างชาติ โดยเฉพาะในบทที่สอง ที่จะชี้ให้เห็นอิทธิพลของศาสนาโรมันคาทอลิกซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญต่อการสร้างจิตสำนึกความเป็นชาติในประเทศอย่างเช่นเม็กซิโกและเปรู ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่นำมาสู่ข้อสรุปที่ว่าชาตินิยมในลาตินอเมริกานั้นไม่ได้เกิดขึ้นหรือริเริ่มในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ดังที่แอนเดอร์สันชี้ไว้ หากแต่เป็นในศตวรรษต่อมาเสียต่างหาก
นอกจากนี้ ถึงแม้อุดมการณ์ชาตินิยมในประวัติศาสตร์ลาตินอเมริกาจะไม่ได้เป็นทั้งแม่แบบหรือเป็นสิ่งที่เลียนแบบที่ใดมา แต่นั่นก็มิได้หมายความว่ามันจะมีคุณค่าน้อยต่อแวดวงการศึกษาอุดมการณ์ชาตินิยมเชิงเปรียบเทียบแต่อย่างใด ประวัติศาสตร์ลาตินอเมริกาที่เคยผ่านกระแสการล่าอาณานิคมมาแต่เดิมก็ดี การล่าอาณานิคมสมัยใหม่ก็ดี หรือแม้แต่การล่าอาณานิคมภายในก็ตาม (Internal colonialism) ส่งผลให้ความหมายของอัตลักษณ์ประจำชาติมีหลากหลายมิติ ถูกประกอบสร้างและถูกรื้อสร้างอยู่อย่างต่อเนื่องภายใต้กระบวนการต่อรองและเจรจากับทั้งผู้เล่นภายในและภายนอก การที่ผู้คนชายขอบจากหลากหลายชนชั้นและจากหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ดีดออกจากสังคม (เช่นในเม็กซิโก เอกวาดอร์ โบลิเวียและเวเนซุเอลา) ออกมารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน นอกจากจะแสดงให้เห็นว่าเป็นการเรียกร้องให้นำเอาเศรษฐกิจแบบชาตินิยมกลับมาใช้งานอีกครั้งแล้ว ยังถือเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าลาตินอเมริกามีความสามารถในการท้าทายความคิดเรื่องการแบ่งประเภทต่าง ๆ ของอัตลักษณ์ร่วมอีกด้วย
ในโลกที่รัฐ-ชาติจำนวนมากถูกกดดันให้ยอมรับความแตกต่าง ประวัติศาสตร์ของลาตินอเมริกาเรื่องชาตินิยมถือเป็นเรื่องที่ควรค่าแก่การให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง
__________________________
สารบัญ
บทที่ 1 บทนำ
โดย ตรีเทพ ศรีสง่า
บทที่ 2 ชาตินิยมในลาตินอเมริกา
โดย ฟรานซิสโก โกลอม กอนซาเลซ
แปลโดย รวิตะวัน โสภณพณิชย์
บทที่ 3 ประวัติศาสตร์นิพนธ์อุดมการณ์ชาตินิยมและอัตลักษณ์ประจำชาติในลาตินอเมริกา
โดย นิโคลา มิลเลอร์
แปลโดย ตรีเทพ ศรีสง่า
บทที่ 4 กระแสลมแห่งความ “ซับซ้อน” ของ “ชาติ” จากลาตินอเมริกา
โดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา
บทที่ 5 ชาตินิยมและการสร้างชาติในประวัติศาสตร์ลาตินอเมริกา
โดย เดวิด เอ. แบรดดิง
แปลโดย ณรงเดช พันธะพุมมี
----------------------
ชาตินิยมในลาตินอเมริกา: กระแสลมแห่งความซับซ้อน (ปกแข็ง)
ผู้เขียน: ตรีเทพ ศรีสง่า
สำนักพิมพ์: Illuminations Edition
จำนวน: 200 หน้า ปกอ่อน
พิมพ์ กันยายน 2564
ISBN: 9786168215371