ถ้าคุณเห็นด้วยว่าการเรียนรู้ ทบทวน และเข้าใจประวัติศาสตร์ จะช่วยให้เราเข้าใจปัจจุบัน และเห็นทางเลือกสำหรับอนาคต ดิฉันเสนอว่าหนังสือเรื่อง “เมื่ออรุณจะรุ่งฟ้า: ขบวนการนักศึกษาไทย พ.ศ. 2513-2519” ของอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เป็นหนึ่งในเครื่องมือชิ้นสำคัญที่จะช่วยให้คุณเข้าใจสภาวะที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันและจินตนาการถึงอนาคต...
อาจารย์ยิ้มชวนข้าพเจ้าเดินขึ้นไทม์แมชชีน ย้อนเวลาไปยังประเทศไทยเมื่อ 51 ปีที่แล้ว ณ กรุงเทพ ปี 2513 อาจารย์เล่าหลายเรื่องให้ข้าพเจ้าฟัง ไม่ว่าจะเป็นภาพการก่อตัวและพัฒนาการการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ทั้งในเชิงโครงสร้าง ยุทธศาสตร์ ฐานคิดและอุดมการณ์ ปัจจัย เงื่อนไข อีกทั้งชนวนสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นอกจากขบวนการนักศึกษาแล้ว อาจารย์ยังเล่าถึงกระบวนการสร้างพันธมิตรระหว่างนักศึกษากับพลังทางสังคมและอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกร ชาวนา คนจนเมือง ชนชั้นกลาง และชนชั้นนำบางกลุ่มที่ให้การสนับสนุนฝ่ายนักศึกษา รวมทั้งวิเคราะห์มาตราการของรัฐที่มีต่อขบวนการนักศึกษา
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ อาจารย์ยิ้มพาข้าพเจ้าเดินทางต่อไปในช่วงปี 2516-2519 ไปดูการขยายตัวของบทบาทของนักศึกษาและพัฒนาการโครงสร้างการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะการขยายตัวขององค์กรนักเรียนนักศึกษา และความร่วมมือที่เข้มแข็งมากขึ้นทั้งในการจัดตั้งพรรคนักศึกษายึดกุมการนำในเกือบทุกมหาวิทยาลัย และในการทำงานร่วมกับพรรคการเมืองฝ่ายสังคมนิยมหลากหลายพรรค ขบวนการชาวนา ขบวนการแรงงาน และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามเวียดนาม นอกจากนั้นอาจารย์ยิ้มยังขยายความให้เราเห็นถึงการขยายตัวอย่างเป็นระบบและเน้นมาตราการรุนแรงของรัฐ และการคุกคามของชนชั้นนำและพลเรือนมวลชนฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และการหันเข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเพื่อสู้รบกับรัฐบาลไทย
ตลอดการเดินทางกับอาจารย์ยิ้มครั้งนี้ ข้าพเจ้าคิดทบทวนกลับไปกลับมาระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2513-2519 กับหลายอย่างที่ข้าพเจ้าได้ประสบในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้คือ เงื่อนไขของการก่อตัวและชัยชนะของขบวนการนักศึกษาในอดีต แตกต่างจากสิ่งที่คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันกำลังเผชิญอย่างมากมาย ในขณะที่ชนชั้นนำในทศวรรษ 2510 เต็มไปด้วยความแตกแยก บางส่วนหันกลับมาสนับสนุนขบวนการนักศึกษา ฐานอุดมการณ์ทางการเมืองแบบสังคมนิยมและบทบาทของ พคท.ให้เครื่องมือทางความคิดและการจัดองค์กรที่สร้างความเข้มแข็งให้กับขบวนการนักศึกษา และเงื่อนไขการเมืองระหว่างประเทศช่วงท้ายของสงครามเย็นที่สหรัฐอเมริกาถอนการสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการกระทั่งพร้อมแทรกแซงทางกิจการภายในประเทศต่างๆ เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย
ในทศวรรษ 2560 เงื่อนไขจำนวนมากที่เคยเอื้อประโยชน์ให้กับขบวนการนักศึกษาในอดีตได้เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว ชนชั้นนำของไทยมีความเป็นปึกแผ่น ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำตามจารีต กลุ่มทุนขนาดใหญ่ ระบบราชการไทยที่ขยายตัวและเข้มแข็งมากขึ้น และทั้งหมดไม่ไว้ใจประชาธิปไตย อุดมการณ์และโครงสร้างทางการเมืองที่สำเร็จรูปและตายตัวแบบเดิมไม่สามารถอธิบายสังคมไทยที่ซับซ้อนและหลากหลายแบบที่คนรุ่นนี้เชื่อร่วมกันและสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแบบเดิม โดยเฉพาะเมื่อหลังยุคสงครามเย็น ประเทศไทยมิใช่พื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ที่พลังมหาอำนาจและองค์กรระหว่างประเทศสนใจเหมือนที่ผ่านมา
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขที่ช่วยให้เราเข้าใจได้ว่า เหตุใดหน้าตาของขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่จึงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ไม่ว่าจะเป็นข้อเรียกร้องที่ดูแหลมคมขึ้น ไม่ได้หยุดเพียงการปฏิรูประบบราชการ พรรคการเมือง รัฐธรรมนูญ หรือเพียงยุบสภาและนายกลาออก ปัญหาโครงสร้างการเมือง สังคม และเศรษฐกิจไทยนั้นซับซ้อนและยากขึ้นทุกที ความหลากหลายของขบวนการคนรุ่นใหม่สะท้อนความพยายามในการทางออกหลากหลายวิธีและมิติ เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงสังคมและรัฐไทยที่หน้าตาแตกต่างจากเดิม
(บางส่วนของคำนิยม)
กนกรัตน์ เลิศชูสกุล
__________________
สารบัญ
คำปรารภ โดยชมรมโดมรวมใจ
คำนิยม โดยกนกรัตน์ เลิศชูสกุล
คำนำ โดย บาหยัน
บทที่ 1 บทนำ
บทที่ 2 บริบทแห่งการพัฒนาของขบวนการนักศึกษาก่อน 14 ตุลา
บทที่ 3 ขบวนการนักศึกษายุคแรก
บทที่ 4 สมัยเริ่มต้นแห่งขบวนการมวลชน
บทที่ 5 สมัยแห่งการเผชิญหน้า
บทที่ 6 พรุ่งนี้ต้องมีอรุณรุ่ง
บรรณานุกรม
---------------
เมื่ออรุณจะรุ่งฟ้า: ขบวนการนักศึกษาไทย พ.ศ.2513-2519 (ปกอ่อน)
ISBN: 9786168215388
ผู้แต่ง : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
สำนักพิมพ์ : ILLUMINATIONS EDITIONS
ปีที่พิมพ์ : พิมพ์ครั้งที่ 1 ตุลาคม 2564
จำนวนหน้า : 216