Royal Capitalism : Wealth, Class, and Monarchy in Thailand คือหนังสือที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับระบบทุนนิยมในราชอาณาจักรไทยร่วมสมัย ด้วยเหตุที่หนังสือให้ความสำคัญกับสถาบันกษัตริย์ในฐานะแก่นกลางในการทำความเข้าใจและวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจการเมืองไทย อีกทั้งหนังสือยังให้มุมมองในเชิงวิพากษ์ต่อสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา ผู้เขียนเคยเชื่อมาตลอดว่า หนังสือเล่มนี้คงจะเหมาะมากกว่าที่จะปรากฏอยู่ในรูปแบบต้นฉบับที่ถูกประพันธ์ด้วยภาษาอังกฤษ และมันคงเป็นการยากที่จะถูกแปลเป็นภาษาไทย จากที่ได้สังเกตการณ์ดูความเป็นไปในราชอาณาจักรไทย ผู้เขียนตระหนักดีว่า ไม่เพียงแต่งานศึกษาสถาบันกษัตริย์ในเชิงวิพากษ์จะหาได้ยากยิ่ง หากแต่มันยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหานานัปการ ไม่ว่าจะเป็นการถูกเพ่งเล็ง ยึด และดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่รัฐ การถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด โจมตี และด้อยค่าโดยนักวิชาการสายนิยมเจ้า หรือกระทั่งการเซ็นเซอร์ตัวเองของนักเขียนจำนวนไม่น้อยที่อยากนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่ต่างไปจากสิ่งที่รัฐ วัง สื่อมวลชน และสถานศึกษาทำการโฆษณาชวนเชื่อมาโดยตลอด แต่ไม่กล้านำเสนอสิ่งที่ตนเองคิดออกมาตรงๆ เนื่องจากหวาดกลัวการถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อ Royal Capitalism ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในรูปแบบปกแข็งที่สหรัฐอเมริกาในช่วงต้น ค.ศ. 2020 โดยสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน และได้รับการวางจำหน่ายในระดับนานาชาติในเวลาไล่เลี่ยกัน ผู้เขียนจึงนึกอยู่ในใจว่า จากนี้ไปหนังสือที่ผู้เขียนประพันธ์ขึ้นมาเองกับมือเล่มนี้คงจะมีชีวิตและอิสระเป็นของตนเองที่นอกเหนือไปจากการควบคุมของผู้เขียน ในขณะที่ผู้เขียนยังคงใช้ชีวิตอยู่ในราชอาณาจักรไทยอันเป็นดินแดนที่เสรีภาพทางความคิดและการถกเถียงทางวิชาการถูกจำกัดและควบคุมอย่างเข้มงวด ผู้เขียนเองก็อดรู้สึกภูมิใจไปไม่ได้ที่อย่างน้อยหนังสือที่ผู้เขียนได้ผลิตมันขึ้นมาจะยังคงเป็นไทจากโซ่ตรวนทางปัญญาอยู่ต่อไป ได้รับการเผยแพร่ในระดับสากล และส่งสารไปถึงผู้ที่สนใจศึกษาปัญหาของความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างสถาบันกษัตริย์และทุนนิยมในแผ่นดินเกิดของผู้เขียน
จะว่าไปแล้ว “ชะตาชีวิต” ของ Royal Capitalism หลังการตีพิมพ์ก็ได้สร้างความรู้สึกหวานอมขมกลืนให้กับผู้เขียนอยู่ไม่น้อย ผู้เขียนขอเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง “ความหวาน” หรือเรื่องที่น่ายินดีที่เกิดขึ้นกับหนังสือเล่มนี้ หลังจากทำยอดจำหน่ายได้ในระดับที่น่าพึงพอใจและได้รับเสียงวิจารณ์โดยทั่วไปในแง่บวก Royal Capitalism ได้รับการตีพิมพ์ในรูปแบบฉบับปกอ่อนในต้นปี 2022 และวางจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าฉบับปกแข็งอยู่พอสมควร และนั่นก็ทำให้หนังสือเล่มนี้เข้าถึงผู้อ่านในวงกว้างได้มากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น หลังการวางแผงของฉบับปกอ่อนไปได้ไม่นาน Royal Capitalism ได้รับรางวัล Honorable Mention of the 2022 Harry J. Benda Prize จากสมาคมเอเชียศึกษาแห่งสหรัฐอเมริกา (Association for Asian Studies) เกียรติยศที่ว่านี้คือรางวัลชมเชยที่สมาคมมอบให้แก่นักวิชาการหน้าใหม่ที่เขียนหนังสือเล่มแรกที่มีเนื้อหาโดดเด่นเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การที่ผู้เขียนกล่าวถึงการได้รับรางวัลชิ้นนี้มิได้เป็นการอวดอ้างถึงความเก่งกาจหรืออัจฉริยภาพส่วนบุคคลของผู้เขียนแต่อย่างใด หากแต่ผู้เขียนต้องการจะชี้ให้เห็นว่า ตรงกันข้ามกับข้อครหาของนักวิชาการไทยจำนวนไม่น้อยที่มักจะกล่าวอ้างว่า งานที่ศึกษาสถาบันกษัตริย์คืองานที่ไม่มีความเป็นวิชาการหากแต่เต็มไปด้วยอคติทางการเมือง ไม่มีทฤษฎีในการวิเคราะห์แต่เต็มไปด้วยอคติส่วนบุคคล และไม่ได้มาตรฐานทางวิชาการในระดับสากล Royal Capitalism พิสูจน์ให้เห็นว่า การศึกษาสถาบันกษัตริย์ไทยในแบบที่แตกต่างไปจากค่านิยมเทิดพระเกียรติจนล้นเกินที่ได้รับการผลิตซ้ำในสังคมไทย ในแบบที่วิพากษ์วิจารณ์ผ่านทฤษฎีเศรษฐกิจการเมืองอย่างเข้มข้น และในแบบที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลนั้นเป็นไปได้ มันได้เกิดขึ้นแล้ว และมันจะแผ้วถางทางให้กับนักวิชาการรุ่นต่อๆไปได้ถกเถียง อุดช่องโหว่ และพัฒนาเพื่อก้าวข้ามต่อไปในอนาคต
คำนำสำนักพิมพ์
คำนำผู้เขียน
กิตติกรรมประกาศ
บทนำ กษัตริย์(ยังไม่)สิ้น ทุนนิยมจงเจริญ!
บทที่ 1 กําเนิดสถาบันกษัตริย์กระฎุมพี
บทที่ 2 การผงาดและชัยชนะของสถาบันกษัตริย์กระฎุมพี
บทที่ 3 กษัตริย์ในสายตากระฎุมพี
บทที่ 4 เจ้าผจญไพร่
บทที่ 5 ทรงพระเจริญ
ภาคผนวก
ประวัติผู้เขียน
บรรณานุกรม
ดรรชนี
----------