ระบอบประชาธิปไตยที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นคนกลางอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
การดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” ในความหมายของนายกรัฐมนตรีที่กองทัพเลือก พรรคการเมืองถูกบังคับให้สนับสนุน และได้รับพระบรมราชูปถัมภ์ ยาวนานเป็นเวลา 8 ปี 5 เดือน (2523-2531) ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์นั้น เป็นต้นแบบของรัฐบาลที่ “มีเสถียรภาพ ใจซื่อ มือสะอาด” ในสายตาของคนจำนวนหนึ่ง ตลอดระยะเวลาดังกล่าวเปรมสวมบท “เตมีย์ใบ้” ลอยตัวเหนือปัญหา แต่สุดท้ายก็ได้เกิดกระแส “เมื่อป๋า เซ็งเปรม” ทำให้นายกรัฐมนตรีคนกลางต้องเปิดทางให้แก่นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง
พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีคนต่อมา แม้พื้นเพจะมาจากคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 แต่ชาติชายในทศวรรษ 2530 เป็นทั้ง ส.ส. นครราชสีมา และหัวหน้าพรรคชาติไทยซึ่งเป็นที่รวมของทุนท้องถิ่นและทุนระดับชาติหลัง 14 ตุลา และชนะการเลือกตั้งในปี 2531 ขณะที่รัฐบาลเปรมมีฐานสำคัญอยู่ที่เทคโนแครต รัฐบาลชาติชายนั้น แม้คณะรัฐมนตรีจะประกอบด้วยกลุ่มทุนต่างๆ แต่ก็มี “คณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี” ที่รู้จักกันในนาม “ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก” ซึ่งได้ระดมนักวิชาการ “หัวก้าวหน้า” ขณะนั้นเข้ามาทำหน้าที่ผลิตนโยบายที่นอกกรอบของทางราชการ
ในแง่หนึ่ง นโยบายของชาติชายจึงมุ่งเน้นให้เกิด “ประชานิยม” มีตั้งแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่น การเพิ่มวันหยุดสงกรานต์จาก 1 วันเป็น 3 วัน การออกกฎหมายประกันสังคมและสิทธิการลาคลอด 90 วัน ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างการเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า และเมกะโปรเจกต์ต่างๆ
--------------
ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 12/1 ระบอบประชาธิปไตย
สำนักพิมพ์: ฟ้าเดียวกัน
พิมพ์ กรกฎาคม 2565
ISBN: 9786167667300