ไพ่เม่นน้อย เพื่อการเข้าใจตัวเองและผู้อื่น สร้างสรรค์มาจากแนวคิดของการสื่อสารอย่างสันติ หรือ Nonviolent Communication (NVC) วิธีการสื่อสารที่เรียบง่ายและทรงพลังนี้คิดค้นขึ้นมาโดย ดร.มาแชล โรเซนเบิร์ก (Marshall Rosenberg)
ไพ่เม่นน้อย 1 ชุด ประกอบไปด้วยการ์ดคำความรู้สึก และ ความต้องการกว่า 100 ใบ (มีวิธีแนะนำการเล่นให้ในชุด)
เป็นเครื่องมือสำหรับใช้ทำความเข้าใจตัวเองและผู้อื่น เหมาะสำหรับเด็ก ครอบครัว บุคคลทั่วไป กระบวนกร องค์กร ผู้ทำงานดูแลผู้อื่น ฯลฯ
ไพ่เม่นน้อย
สร้างสรรค์มาจากแนวคิดของการสื่อสารอย่างสันติ หรือ Nonviolent Communication (NVC) วิธีการสื่อสารที่เรียบง่ายและทรงพลังนี้คิดค้นขึ้นมาโดยดร.มาแชลโรเซนเบิร์ก (Marshall Rosenberg) ผู้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อสอนให้คนเข้าใจตัวเองและเข้าใจผู้อื่น สามารถแก้ปัญหาได้อย่างสันติและสร้างสรรค์ วิธีนี้แพร่หลายไปใน 65 ประเทศ ผู้คนนำการสื่อสารนี้ไปใช้ทั้งในระดับบุคคคลครอบครัว องค์กร จนไปถึงการเจรจาระหว่างรัฐบาล
ความรู้สึกและความต้องการสำคัญอย่างไร
มาแชล โรเซนเบิร์ก บอกว่าหัวใจหลักของการเข้าใจตัวเองและผู้อื่นคือ การเข้าถึงความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริง ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับเราในขณะนี้ เป็นสัญญาณบอกว่าความต้องการของเรากำลังได้รับการตอบสนองหรือไม่ เราจะติดตามความรู้สึกเพื่อนำพาเราไปพบกับความต้องการ ซึ่งความต้องการของการสื่อสารอย่างสันติหมายถึง ความต้องการร่วมของมนุษย์ทุกคนทั้งความต้องการพื้นฐานที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้และคุณค่าต่างๆ ของมนุษย์ เมื่อเราเข้าใจความต้องการของตัวเองแล้ว ความรู้สึกโกรธหรือกลัวแบบเม่นขนแหลมจะแปรเปลี่ยนเป็นความเข้าใจ รวมทั้งเราสามารถเข้าใจคนอื่นที่พูดหรือทำอะไรที่แตกต่างจากเราได้ โดยมองลึกลงไปถึงความต้องการของเขา เพราะในระดับนั้นเราต่างก็มีความต้องการในความเป็นมนุษย์เหมือนกัน แล้วเราจะสามารถหาวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างสันติและสร้างสรรค์ โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงกับตัวเองและกับคนอื่นเลย
สำหรับพ่อแม่ ครู และผู้ดูแลเด็กๆ
ไพ่เม่นน้อยนี้จะช่วยให้พ่อแม่ ครู และผู้ดูแลเด็กๆมีเครื่องมือในการรับฟังและให้ความเข้าอกเข้าใจเด็กๆ ซึ่งจะช่วยสานความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ สร้างความรักความเข้าใจระหว่างกัน ยิ่งเมื่อผู้ใหญ่ใช้ไพ่เพื่อให้ความเข้าใจทั้งความสุข และความทุกข์ของเด็กๆ เขาจะรู้สึกมั่นใจว่ามีผู้ใหญ่คอยอยู่เคียงข้างเสมอ แล้วเขาจะเติบโตได้อย่างมีความมั่นคงภายใน
ผู้ใหญ่ยังสามารถสอนให้เด็กๆ ใช้ไพ่นี้เรียนรู้การรับรู้ความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) และพัฒนาสมองอย่างสมดุล การนำพาเด็กๆ ไปค้นหาความต้องการที่อยู่ภายใต้ความรู้สึก จะช่วยให้เด็กๆ เกิดความเข้าใจตัวเอง เกิดทักษะที่จะช่วยดูแลอารมณ์ของตัวเองได้ตั้งแต่วัยเยาว์ นอกจากนั้นผู้ใหญ่ยังสามารถช่วยให้เด็กเข้าใจผู้อื่นผ่านไพ่เม่นน้อย เด็กๆ จะได้รับการปลูกฝังทักษะการเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่น บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญาและความเมตตากรุณาให้เกิดขึ้นในใจอย่างเป็นธรรมชาติอันจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสันติและสร้างสรรค์
-----------------
แนะนำวิธีใช้
ตัวไพ่ประกอบด้วยชุดไพ่ความรู้สึกและชุดไพ่ความต้องการ ทั้งผู้ใหญ่และเด็กๆ สามารถสร้างสรรค์วิธีการเล่นไพ่เม่นน้อยให้สนุกและเกิดประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ แนะนำวิธีต่อไปนี้ เพื่อเป็นแนวทางการใช้
- เล่นเมื่อเด็กๆ อารมณ์ไม่ดี
พ่อแม่ ครู และผู้ดูแล สามารถโอบอุ้มและแปรเปลี่ยนอารมณ์เหล่านั้นให้กลายเป็นความเข้าใจโดยชวนเด็กๆ มาเลือกไพ่ความรู้สึกและความต้องการที่ตรงกับใจ หรือเราอาจเลือกให้แล้วถามเด็กๆ ว่ากำลังรู้สึก.......ใช่ไหม จากนั้นเลือกไฟความต้องการ แล้วถามว่าเด็กๆ ต้องการ.....ใช่ไหมเด็กๆ อาจมีหลายความรู้สึกและความต้องการ สิ่งสำคัญคือรับฟัง โดยไม่ปฏิเสธความรู้สึกของเด็กๆ แม้ว่าเราจะไม่อยากให้เด็กรู้สึกเช่นนั้นก็ตาม แต่ด้วยการรับฟังอย่างใส่ใจ จนเด็กเกิดความเข้าใจว่าตัวเองต้องการอะไรแล้อารมณ์ไม่ดีทั้งหลายจะคลี่คลายกลายเป็นความสบายใจ ความโล่งใจได้เอง เมื่อเขาสบายใจแล้ว เราสามารถช่วยถามให้เขาคิดหาวิธีแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ได้ อย่างไรก็ตาม หากเด็กๆ กำลังมีอารมณ์ที่แรงจนไม่สามารถรับฟังเราหรือไม่มีอารมณ์จะมานั่งดูไพ่ ผู้ใหญ่สามารถให้ความเข้าใจด้วยภาษากายก่อน เช่น จับมือ ลูบหลัง โอบกอด จนเขาผ่อนคลายลง จึงค่อยเริ่มพูดคุย
- เล่นเมื่อเด็กๆ มีความสุข
ในเวลาที่เด็กๆ มีความสุข ไม่ว่าจะจากเรื่องที่เขาทำอะไรสำเร็จ ได้รับคำชมเชย ได้เล่น หรือได้ไปเที่ยว ความรู้สึกของเด็กๆ จะเป็นด้านบวกเพราะความต้องการของเขาได้รับการตอบสนอง ผู้ใหญ่ก็สามารถใช้ไพ่ทายความรู้สึกด้านบวกของเด็กๆ ได้ แล้วทายต่อไปว่าเป็นเพราะความต้องการอะไรของเขาที่ได้รับการตอบสนอง
- เล่นเป็นกลุ่ม ตั้งแต่ 3-5 คน
เล่นเฉพาะไฟความรู้สึก ผลัดกันเป็นคนเล่าเรื่อง คนเล่าแจกไพ่ความรู้สึกให้คนอื่นๆ แล้วเล่าเรื่องของตัวเอง จะเป็นเรื่องที่มีความสุขหรือความทุกข์ก็ได้ เล่าไม่เกิน 5 นาที คนอื่นตั้งใจฟังและคาดเดาความรู้สึกของคนเล่า เมื่อเล่าจบ ให้แต่ละคนวางไพ่ความรู้สึกลงมากลางวง เมื่อทุกคนวางไพ่หมดแล้วให้คนเล่าเลือกไฟที่ตรงกับความรู้สึกของตัวเอง หากหาความรู้สึกที่ตรงไม่เจอ จะมีไพ่เปล่า 1 ใบ ให้เด็กๆเขียนความรู้สึกใส่กระดาษโพสอิตแปะลงไปได้
- เล่นทั้งไฟความรู้สึกและความต้องการ
ผลัดกันเป็นคนเล่าเรื่อง คนเล่าเก็บไพ่ความรู้สึกไว้กับตัว แจกไพ่ความต้องการให้คนอื่นๆแล้วเล่าเรื่องของตัวเอง จะเป็นเรื่องที่มี
ความสุขหรือความทุกข์ก็ได้ เล่าไม่เกิน 5 นาที คนอื่นตั้งใจฟังและคาดเดาความต้องการของคนเล่า เมื่อเล่าจบ ให้คนเล่า
เลือกไพ่ความรู้สึกของตัวเองออกมาวาง คนอื่นๆ ลงไฟความต้องการที่คาดเดาไว้ เมื่อทุกคนวางไพ่หมดแล้ว ให้คนเล่าเลือกไฟที่
ตรงกับความต้องการของตัวเอง