เปลี่ยนผ้าพันแผลในหัวใจให้บุตรหลาน / ผู้เขียน: นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ / สำนักพิมพ์: Way of book

คุณสมบัติสินค้า:

SKU : 9786163291264

มีคำสำคัญ 3 คำ ทำหน้าที่ค้ำยันร้อยรัดกระดูกสันหลังหนังสือเล่มนี้ ฟรอยด์ EF และทักษะศตวรรษที่ 21

แบรนด์ : WAY

Share

มีคำสำคัญ 3 คำ ทำหน้าที่ค้ำยันร้อยรัดกระดูกสันหลังหนังสือเล่มนี้

หนึ่ง ฟรอยเดียน (Freudian) ความรู้ด้านจิตวิเคราะห์ทั้งหมดของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud, 1856-1939) รวมถึงงานศึกษาต่อยอดจากความรู้ที่ฟรอยด์สร้างเอาไว้ มันคือแก่นกลางนับหนึ่งของการเลี้ยงดูเด็กให้มีพื้นฐานสุขภาพจิตแข็งแกร่ง แพทย์จิตเวชผู้ตรวจคนไข้เฉลี่ย 200 คนต่อวัน ตลอดการทำงานในระบบราชการ 33 ปี กล่าวว่า อะไรที่ฟรอยเดียนเขียนเอาไว้จะปรากฏให้เห็นในตัวผู้ป่วย เมื่อแพทย์ใช้เวลาสังเกตพวกเขานานพอหรือมากพอ

สอง EF (Executive Function) คำค้นยอดนิยมของการเลี้ยงเด็กยุคปัจจุบัน การมีหรือไม่มี EF คือปัจจัยชี้วัดว่าเด็กคนหนึ่งจะสามารถพัฒนาตนเองไปสู่เป้าหมายที่ตนตั้งไว้หรือไม่ ปัจจุบันนิยามของ EF ยังหลากหลาย ไม่มีข้อยุติ แต่ไม่ใช่ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการบริหารจัดการจะถูกนับเป็น EF

เท่าที่ยอมรับเป็นความเข้าใจร่วมกัน ขาสองข้างของ EF ประกอบด้วยส่วนที่เรียกว่า การยับยั้งความคิดเดิม กับ การเปลี่ยนไปที่ความคิดใหม่ ภายใต้ขาสองข้างนี้ยังประกอบไปด้วยกลุ่มคำสำคัญ 4 คำ ได้แก่ การยับยั้ง (inhibition) ความจำใช้งาน (working memory) การเปลี่ยนความคิด (shifting) การวางแผน (planning) หรือบางตำราใช้ 4 คำ คือ การยับยั้งการตอบสนอง (response inhibition) ความจำใช้งาน (working memory) ความยืดหยุ่น (flexibility) และการแก้ปัญหา (problem-solving)

สมองส่วนหน้าคืออวัยวะรับผิดชอบ EF โดยตรง เรื่องสนุกก็คือสมองส่วนหน้าจะได้รับการพัฒนาถึงขีดสุดเมื่อเด็กก่อนปฐมวัยได้เล่นมากๆ ได้ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก ใช้นิ้วมือ ไม่ใช่เร่งเรียนเขียนอ่านวิชาการตั้งแต่ก่อน 7 ขวบ

EF เป็นรากฐานสำคัญของคำที่สาม ทักษะศตวรรษที่ 21 อันประกอบด้วยทักษะเรียนรู้ ทักษะชีวิต และทักษะไอที ทุกทักษะต้องการ EF เป็นสารตั้งต้นทั้งสิ้น

ยกตัวอย่างทักษะการเรียนรู้ ประกอบด้วย ทักษะการคิดวิพากษ์ ทักษะสื่อสาร ทักษะทำงานเป็นทีม และทักษะความคิดสร้างสรรค์หรือสร้างนวัตกรรม

ทักษะชีวิต ข้อนี้ละเอียดกว้างขวาง แต่ข้อตกลงเบื้องต้นของผู้มี EF คือ เรามีส่วนร่วมรับผิดชอบเสมอ แม้นว่าความผิดจะเกิดจากการกระทำของผู้อื่น พื้นฐานคุณสมบัติเช่นนี้ช่วยให้เราเรียนรู้การดำรงชีวิตอย่างสง่าน่านับถือ ไม่ใช่แค่มีชีวิตรอด

ทักษะไอที จะมีได้อย่างไรหากไม่รู้จักคิดอ่านวางแผน สนุกกับปรับเปลี่ยนความคิดนับแต่ระดับเปลี่ยนมุมมอง กระทั่งเปลี่ยนทั้งกระบวนทัศน์ รวมถึงคุณสมบัติของการเป็นนักแก้ปัญหา มีความคิดยืดหยุ่น

เมื่อเอ่ยคำสำคัญทั้ง 3 คำ อันได้แก่ ฟรอยด์ EF และทักษะศตวรรษที่ 21 แทบจะเลี่ยงไม่ได้ต้องเห็นใบหน้านายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ลอยมาทาบตัวหนังสือ เนื่องจากเป็นหัวข้อที่แพทย์จิตเวชผู้นี้บรรยายครั้งแล้วครั้งเล่า เขียนครั้งแล้วครั้งเล่า ตอบคำถามครั้งแล้วครั้งเล่า

เพียงแต่ครั้งนี้ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เขียนเรื่องเหล่านี้ผ่านสำนักสื่ออย่าง WAY ซึ่งคงเส้นคงวากับประเด็นเชิงโครงสร้างสังคม



หากความรู้จิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ คือกุญแจไขปริศนาว่าเหตุใดทารกแรกเกิดถึง 6 เดือนจึงต้องการเต้านมของแม่ เพื่อสร้าง ‘แม่ที่มีอยู่จริง’ สร้างสายใยเชื่อมโยงระหว่างแม่กับลูก สร้างความสัมพันธ์และความไว้วางใจระหว่างเด็กกับโลก อันเป็นรากฐานขั้นแรกของพัฒนาการเด็ก

แม่ที่มีอยู่จริงจะไม่มีทางสถาปนาตนเองขึ้นได้ หากแม่ไม่มีสิทธิลาคลอด 90 วัน หรือที่ถูกต้องกว่าคือ แม่ควรมีสิทธิลาคลอด 180 วัน หรือหากอยู่ในเงื่อนไขความสัมพันธ์เป็นไปได้ สิทธิการลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตร 180 วัน ควรครอบคลุมไปถึงผู้เป็นพ่อด้วย เพื่อร่วมกันวางอิฐก้อนแรกเป็นรากฐานชีวิตทั้งชีวิตของเด็กคนหนึ่ง ซึ่งโอกาสเช่นนี้มีเพียงครั้งเดียว ผ่านเลยแล้วเรียกคืนไม่ได้

นโยบายสาธารณะจึงเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสร้างแม่ที่มีอยู่จริง หากมิใช่รัฐสวัสดิการ จะมีนโยบายรัฐสำนักคิดใดกล้าตัดสินใจออกกฎหมายเปิดทางให้แม่และพ่อสามารถลางานเพื่อเลี้ยงดูลูกตลอดระยะเวลาทอง 180 วัน

การมาของ EF ก็คือหลักฐานสะท้อนความพังทลายของความเชื่อเดิมที่ว่า ต้องเรียนให้เก่งจึงจะมีชีวิตที่ดี ความรู้สมัยใหม่ไม่ได้บอกว่าการเรียนเก่งเป็นปัญหาโดยตัวมันเอง แต่มันจะเป็นปัญหาต่อเมื่อเรียนเก่งอย่างเดียวโดยไม่มี EF

เมื่อไม่มี EF ก็จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงเพดานจำกัดในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งไม่มีสอนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เพราะระบบการศึกษาที่ใครต่อใครต่างก็ส่งเสียงให้ปฏิรูปกันมาตลอด 20-30 ปี เคลื่อนตามไม่ทันคลื่นความเปลี่ยนแปลงของโลก ปรากฏการณ์นี้มีหลักฐานรูปธรรมนับไม่ถ้วน

จากอิฐก้อนแรกของชีวิตว่าด้วยความรู้จิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ มาถึงการสร้าง EF เพื่อเป็นสารตั้งต้นการเรียนรู้ทักษะศตวรรษที่ 21 ทั้งหมดนี้นอกจากจะเชื่อมโยงถึงกันอย่างตรงไปตรงมา ความรู้ดังกล่าวยังทำหน้าที่ทั้งเขย่าทั้งกระตุ้นแนวทางการกำหนดนโยบายสาธารณะโดยซึ่งหน้า

ไม่เพียงเขย่าและกระตุ้นรัฐ งานเขียนของนายแพทย์ประเสริฐเล่มนี้ ยังท้าทายความคิดความเชื่อเก่าๆ ของสังคมยุคเดิมที่พยายามดันหลังบุตรหลานตนเองเบียดเข้าไปในสังคมอภิสิทธิ์ เลือกโรงเรียนเพื่อเลือกสังคม ทั้งหมดนี้เพียงเพื่อหวังสร้างหลักประกันการมีชีวิตรอดปลอดภัย

ตัวหนังสือของนายแพทย์ประเสริฐไม่มีตรงไหนพูดตรงๆ ว่า วิธีคิดการเลี้ยงเด็กให้อยู่ใน ‘แคปซูลอภิสิทธิ์’ นอกจากจะทั้งเห็นแก่ตัว ทั้งเชย ทั้งสูญเปล่าทางการศึกษา และทั้งไม่มีหลักประกันผลลัพธ์ แต่หากต่อจิกซอว์เนื้อหาแต่ละบทละตอนในหนังสือเล่มนี้ เราจะพบข้อเสนอการสร้างสังคมที่ดีเป็นร่มใหญ่เพื่ออยู่อาศัยร่วมกัน โดยมีคำสำคัญระบุว่า — ไม่มีใครปลอดภัยหากทุกคนไม่ปลอดภัย

-----
จำนวน 328 หน้า ปกอ่อน
ISBN 9786163291264
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้