การอธิบาย ‘การก่อรูปของรัฐและสังคมสยาม’ ในแบบแนวคิดชุมชนศีลธรรม สำคัญต่อการทำความเข้าใจลักษณะของรัฐชาติสยามสมัยใหม่ที่อำนาจอธิปไตยสูงสุดเป็นของกษัตริย์ รวมถึงความเป็นรัฐศักดิ์สิทธิ์ของประเทศไทยที่กษัตริย์เปรียบเสมือนมหาบุรุษและเป็นที่เคารพสักการะสูงสุด
.
การก่อรูปของชุมชนศีลธรรมไทยยังสำคัญต่อการสร้างความเชื่อและการรับรู้ที่แรงกล้าของคนไทยต่อความจริงทางอำนาจ ศีลธรรม และกษัตริย์ในฐานะส่วนหนึ่งของระเบียบรัฐและบรรทัดฐานทางสังคม และทำให้ชุมชนศีลธรรมไทยกลายมาเป็นแรงขับทางสังคมและวัฒนธรรมของอารมณ์ความรู้สึกต่อธรรมชาติของความเชื่อในราชอำนาจของกษัตริย์เชิงบารมี (charisma) ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชนในสังคม และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนไทย
.
ดังนั้น การรับรู้ ความเชื่อ อุปนิสัยใจคอ และอารมณ์ทางวัฒนธรรมของคนไทยจำนวนมากจึงฝังตรึงอยู่ในความเป็นชุมชนศีลธรรม ในขณะเดียวกัน แรงขับทางสังคมและวัฒนธรรมทางอารมณ์ยังช่วยธำรงรักษาไว้ซึ่งระเบียบทางสังคมและการเมืองบนฐานอำนาจนำของสถาบันกษัตริย์และชนชั้นไทย
----------------
มหาบุรุษแห่งชุมชนศีลธรรม : วัฒนธรรมอำนาจนิยมและอารมณ์เชิงวัฒนธรรมไทย
ผู้แต่ง ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช
สำนักพิมพ์ สำนักพิมพ์สมมติ
ปีที่พิมพ์ พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2565
จำนวนหน้า 272 หน้า ปกอ่อน
ISBN 9786165620475