“จิตรกรออสการ์ โคคอชกา ตกหลุมรักอัลมา มาห์เลอร์ หัวปักหัวปำมากเสียจนเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่สิ้นสุดลง เขาได้สั่งให้ประดิษฐ์ตุ๊กตาขนาดเท่าตัวจริงตามรายละเอียดทั้งหมดของคนรักขึ้นมา จดหมายถึงช่างประดิษฐ์ตุ๊กตาได้รวมรายละเอียดรอยพับรอยย่นบนผิวที่เขาคิดว่าขาดไม่ได้ไว้ และมีภาพวาดเส้นจำนวนมากกับคำสั่งในการผลิตแนบไปด้วย โคคอชกาผู้ไม่อาจซ่อนความรักใคร่ใหลหลงของตน เดินเล่นในเมืองกับตุ๊กตาและพามันไปชมอุปรากรด้วย แต่วันหนึ่งเมื่อเขารู้สึกเบื่อหน่ายมัน เขาก็เอาขวดไวน์แดงฟาดหัวตุ๊กตาและโยนทิ้งขยะ นับแต่บัดนั้น มันก็เริ่มมีบทบาทสำคัญสำหรับโชคชะตาชีวิตของผู้คนมากหน้าหลายตา…”
ตุ๊กตาของโคคอชกา เปรียบเสมือนเส้นโค้งในวงโคจรของหลายชีวิตที่ได้พบและจากกันด้วยเหตุปัจจัยนานัปการ ความสัมพันธ์ระยะใกล้และไกลของพวกเขาถูกถักร้อยด้วยเชือกยาวกลุ่มใหญ่ มิอาจดึงออกมาแล้วตัดแยกให้เห็นเป็นเพียงเชือกเส้นสั้นๆ มองเห็นง่าย เพราะความสัมพันธ์เหล่านั้นล้วนบรรจุรายละเอียดของแต่ละชีวิตไว้อย่างไม่ธรรมดา
ตุ๊กตาของโคคอชกา ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติของวงการวรรณกรรมยุโรป นั่นคือ The European Union Prize for Literature ประจำปี ค.ศ. 2012
เกี่ยวกับหนังสือ
รูปแบบการเขียน ตุ๊กตาของโคคอชกา มีองค์ประกอบของนวนิยายสมัยใหม่อย่างเด่นชัดมาก ซึ่งล้อไปกับภูมิหลังของเรื่องเกี่ยวกับสงครามที่ตัวละครต้องเผชิญกับความเดือดร้อน ความขาดแคลน ความอ้างว้าง และความโดดเดี่ยวอันเป็นผลกระทบจากสงคราม เนื้อเรื่องเริ่มที่ร้านขายนกซึ่งมีห้องลับอยู่ใต้พื้นไม้ และมีเด็กชายคนหนึ่งแอบมาใช้ชีวิตในนั้นอย่างยาวนาน สิ่งที่ทำได้ก็คือการส่งเสียงลอดผ่านขึ้นมาขอน้ำขออาหารจากเจ้าของร้านขายนก
คนเล่าพาเราไปรู้จักกับมหาเศรษฐีผู้มีลูกสาวสองคน แต่ทั้งสองคนออกจากบ้านไปชั่วนิรันดร์ เราได้รู้จักกับชายนักเขียน นักดนตรี ที่เดินทางดั้นด้นข้ามทวีปเพียงเพื่อจะย้อนกลับคืนสู่แผ่นดินเกิดเพื่อใช้ชีวิตต่ออย่างไม่มีจุดหมาย เราได้รู้จักการขโมยสินทรัพย์ทางปัญญาที่เรียกว่า “วรรณกรรม” โดยการฉกฉวยมาเป็นเจ้าของแล้วสวมรอยใส่ชื่อตัวเองเข้าไป แต่เมื่อหนังสือไม่ประสบผลสำเร็จ ต่อให้เขียนขึ้นใหม่เพื่อแก้เกี้ยวอย่างไร ผลลัพธ์ที่นักเขียนจอมแอบอ้างผู้นั้นได้ก็อยู่ในระดับเดิมอยู่ดี นอกจากนี้ยังมีเรื่องของตุ๊กตาดินที่ตัวละครคนหนึ่งเคยเล่นในวัยเด็ก และยังมีตุ๊กตาอีกตัวที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาด้วยแรงขับที่เรียกว่าความหลงใหลคลั่งไคล้ของชายหนุ่มผู้ไม่อาจพรากจากนางอันเป็นที่รัก
เสี้ยวส่วนเรื่องราวยิบย่อยเหล่านี้ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน เป็นเรื่องที่แตกต่าง มีลักษณะกระจัดกระจาย ทว่า ด้วยพรสวรรค์ของนักเขียนชาวโปรตุเกส อะฟงซู ครุช ที่ถนัดการผูกเรื่องแบบ embedded stories (เหมือนเรื่อง หนังสือที่กลืนกินคุณพ่อของผม เรื่องราวแสนพิลึกพิลั่นและมหัศจรรย์ของ วีวัลดู บงฟิง) ก็ทำให้ชิ้นส่วนชีวิตเหล่านี้เป็นเรื่องเดียวกัน ทุกชีวิตมีความเกี่ยวข้องกันในทางใดทางหนึ่ง หรือเวลาใดเวลาหนึ่ง เรื่องจริงกับวรรณกรรมหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวจนแยกไม่ออก เนื้อหนังของชีวิตและเนื้อแท้ของสิ่งประดิษฐ์ ถูกร้อยรวมกันจนยากจะบอกได้ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งใด และท้ายที่สุด รูปแบบการเขียนที่เอาความกระจัดกระจายกอบก่อเป็นก้อนเดียวกันไว้เช่นนี้ จะเปิดทางให้ผู้อ่านได้ใคร่ครวญและมองเห็นสิ่งใหม่ๆ ได้ตระหนักถึงความหมายของคำว่า ‘ความเป็นไปได้’ มากมายขึ้นกว่าเดิม
เกี่ยวกับผู้เขียน
อะฟงซู ครุช (1971 - ปัจจุบัน) นักเขียน นักวาดภาพประกอบ และนักดนตรีชาวโปรตุเกส มีนวนิยายเล่มแรกตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 2008 และมีผลงานอื่นๆ ตามมาอีกมากมายราว 30 เล่ม ลักษณะเด่นในงานประพันธ์ของครุชคือการโยงเรื่องราวรอบตัวด้วยถ้อยคำเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ผ่านเส้นเรื่องที่ผูกกับจินตนาการแสนลึกล้ำจนสร้างผลลัพธ์ทางอารมณ์ความรู้สึกอย่างน่าทึ่ง ครุชได้รับรางวัลทางวรรณกรรมมากมายทั้งในและต่างประเทศ A Boneca de Kokoschka หรือ ตุ๊กตาของโคคอชกา ได้รับ European Union Prize for Literature ประจำปี ค.ศ. 2012 นอกจากงานประพันธ์ชิ้นนี้ ยังมี Os Livros que Devoraram o Meu Pai หรือ หนังสือที่กลืนกินคุณพ่อของผม เรื่องราวมหัศจรรย์ของวิวัลดู บงฟิง ที่เคยแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาไทย
ข้อความคัดสรร
“ชีวิตของเราขึ้นอยู่กับว่าเราให้ความหนักของเราเบาแค่ไหน
และในทางกลับกัน เราให้ความเบาของเราหนักเท่าไร”
“ชีวิตคือปรากฏการณ์อันเป็นผลจากความรัก มันคือการรวมชิ้นส่วนที่ร้อยเรียงขึ้นมาเป็นชีวิตให้อยู่ด้วยกัน”
“ตุ๊กตาที่โคคอชกาสั่งทำขึ้น มันได้เปลี่ยนแปลงจักรวาล
เหนือสิ่งอื่นใดคือเปลี่ยนแปลงชีวิตของผม”
“ความตายเป็นศัตรูตัวฉกาจของจดหมายรัก”
“เขาได้ทำให้มันมีชีวิตขึ้นมาในช่วงหนึ่ง คนไม่ได้มีตัวตนขึ้นมาได้แค่เพราะมีร่างกายเท่านั้น คนจำเป็นต้องมีชีวิตในสังคม จำเป็นต้องมีถ้อยคำและจิตวิญญาณ เราจำเป็นต้องมีพยานและคนอื่น ๆ ดังนั้นโคคอชกาจึงได้สั่งให้สาวใช้แพร่ข่าวลือเกี่ยวกับตุ๊กตาออกไป ข่าวลือเรื่องราวต่าง ๆ ราวกับว่ามันมีชีวิตอยู่จริง ราวกับว่ามันมีตัวตนเหมือนเรา…”
------------------------------
ตุ๊กตาของโคคอชกา
A BONECA DE KOKOSCHAKA หรือ KOKOSCHAKA’S DOLL
อะฟงซู ครุช (Afonso Cruz) เขียน
เบญจรัศมี รุจน์รวีหิรัญ แปลจากภาษาโปรตุเกส
กอบชลี และ รังสิมา ตันสกุล บรรณาธิการต้นฉบับ
สุภัควดี ทวีชัย พิสูจน์อักษร
Wonderwhale ออกแบบปกและรูปเล่ม
ปกอ่อน จำนวน 221 หน้า ราคาปก 300 บาท
ISBN 9786168123935
พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2566