SKU : 9786167158440
หนังสือที่พาเราไปตีความคลายสงสัยเกี่ยวกับวรรณคดีไทย
หมวดหมู่ : หนังสือ ,  ประวัติศาสตร์ ,  สังคมและวัฒนธรรม ,  งานวิเคราะห์วิจารณ์ ,  วิชาการ , 
แบรนด์ : อ่าน
Share
วรรณคดีขี้สงสัย เล่มนี้ เกิดจากการคัดบทความที่คุณปรามินทร์ เครือทอง เขียนประจำคอลัมน์ “อ่านย้อนเกร็ด” ในวารสาร อ่าน ตั้งแต่ปี 2553-2557 จำนวน 11 ชิ้น มาตีพิมพ์รวมเล่ม และยังได้เพิ่มอีกหนึ่งบทความที่เขียนขึ้นใหม่เป็นบรรณาการแด่ผู้อ่านโดยเฉพาะสำหรับการพิมพ์รวมเล่มนี้ เบ็ดเสร็จทั้งสิ้นจึงเป็น 12 บทความอันว่าด้วยคำถามที่ล้วนหยุมหยิมไร้สาระโดยสิ้นเชิงเกี่ยวกับบางประเด็น บางตัวละคร ในวรรณคดีไทยบางเรื่อง
ถ้าไม่นับการสื่อสารแบบต่อปากต่อคำไม่เว้นวายอยู่เป็นระยะในจดหมายปะหน้ายามส่งต้นฉบับ โดยเฉพาะเมื่อบรรณาธิการเริ่มแซวว่างานเขียนของเขาชักจะสัปดนหรือบางคราวก็เข้าข่ายวิชากามเหลือเกินแล้วนะคะ (ก่อนที่เขายืนยันกลับมาด้วยน้ำเสียงทะเล้นอย่างแน่นหนักขึ้นไปอีกถึงความเป็น “วิชาการ” ในงานของเขา) แล้ว บรรณาธิการอย่างดิฉันและผู้อ่านที่มีหัวใจสามัญคนใดเล่าจะปฏิเสธได้ว่า, ไม่ว่าใครจะถือว่าเป็น “วิชาการ” หรือไม่, นี่คืองานเขียนเกี่ยวกับวรรณคดีไทยที่ท้าทาย บุกเบิก ประเทืองอารมณ์และปัญญา อย่างหาได้ยาก หาได้ยากในความง่าย ในความสามัญ ในความเป็น “บ้านๆ” แต่เข้มข้นในความขบขันและความเอาจริงเอาจัง ที่ท้าทายสถานะอันขรึมขลังของวงวรรณคดีไทยได้อย่างถึงกึ๋น
จะว่าเป็นเพราะลีลาเฉพาะตัวในการเขียนของเขาก็คงใช่ แต่ที่สำคัญกว่าน่าจะเป็นเพราะว่า ลำพังการทำให้วรรณคดีไทยเป็นสิ่งที่เข้าถึงและเสพรับได้อย่างที่มันควรจะเป็น ก็ถือเป็นการท้าทายทางวิชาการ/หลักการ ต่อวงการวรรณคดีไทยไปได้โสดใหญ่โสดหนึ่งแล้ว
การทำเรื่องยากๆให้เป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป และในกรณีนี้ ถือเป็นความง่ายอันสมแก่กาละเทศะและฐานานุรูปของความเป็นวรรณคดีไทยอย่างยิ่ง แค่ลำพังการลดทอนความยกตนอันรุงรังที่ฝังแน่นอยู่ในภาวะอันศักดิ์สิทธิ์ของความเป็นไทย ที่นักวรรณคดีไทยส่วนใหญ่นำไปฝากฝังสักการะกันไว้ ก็ทำให้เราเหล่าสามัญชนช่วงชิงสมบัติอันเป็นสามัญ/สาธารณ์ (common) ของเรากลับคืนมาได้แล้ว
เพราะความสามัญ คือฐานะอันประหลาดที่วงวรรณคดีไทยไม่ยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของกำพืดและกมลสันดาน การ “สงสัย” ว่าพระนเรศวรใส่รองเท้าหรือไม่ วันทองขี่ม้าท่าไหน เจ้าฟ้ากุ้งนั่งเรือลำใด หรือพระอภัยมณีกับนางเงือก..เอ่อ..ยังงั้นกันยังไง คือการทำให้วรรณคดีไทยเหล่านี้ได้มีฐานะทัดเทียมวรรณคดีคลาสสิคของชาติอื่นๆ เขาเสียที ฐานะอย่างที่งานเขียนของเชคสเปียร์, โฟล์คเนอร์, วูล์ฟ, จอยซ์ ฯลฯ เขามีกันตลอดมา นั่นคือฐานะของงานศิลปะที่มีชีวิต เลือดเนื้อ – อย่างสามัญ
ในบริบทของสัญชาติอื่น การนำมุมมองใหม่ๆ ทฤษฎีใหม่ๆ มารื้อ มาสับ มาทึ้ง มาตั้งคำถามอันลึกซึ้งต่องานเขียนคลาสสิคได้ ถือเป็นความท้าทายอันก้าวหน้า แต่ในบริบทของสัญชาติไทย การทดลองเหล่านั้นหากยังคงดำเนินไปภายใต้กรอบของการบูชาอย่าง “ไทยๆ” คนอ่านสามัญอย่างดิฉันคนหนึ่งนี่ล่ะ ที่ไม่อาจจะถือว่ามันเป็นความก้าวหน้าทางวิชาการแต่อย่างใดเลย
ในฐานะบรรณาธิการวารสาร อ่าน และสำนักพิมพ์อ่าน ดิฉันขอขอบคุณ คุณปรามินทร์ เครือทอง ที่ร่วมหัวจมท้ายกันมาในการพิสูจน์ถึงความเป็นไปได้อันหลากหลายทางวิชาการในครั้งนี้ และขอขอบคุณ อ. วิทยา หาญวารีวงศ์ศิลป์ ที่ช่วยสร้างสรรค์ภาพประกอบไว้ในสปิริตเดียวกันของการสร้างและเสพงานศิลปะ – ฐานะอันสูงศักดิ์แห่งความเป็นสามัญ – ฐานะของวรรณคดี
--------------
วรรณคดีขี้สงสัย
ผู้เขียน ปรามินทร์ เครือทอง
จำนวน 247 หน้า
สำนักพิมพ์อ่าน
ปีที่พิมพ์ 2558
ISBN 9786167158440