“เหตุการณ์ตากใบ” ที่อำเภอสุดแดนใต้ฟากอ่าวไทย เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗
ถูกนับเป็นเหตุการณ์ชุมนุมที่มีคนตายมากที่สุด เป็นการสูญเสียชีวิตคนบริสุทธิ์ที่มีตัวตนอยู่จริง ไม่ใช่เพียงเรื่องเล่าลือหรือตำนานปรัมปรา และเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความศรัทธาของคนท้องถิ่นที่มีต่อรัฐมากที่สุด
แต่ว่านั่นไม่ใช่จุดแรกของความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้
กล่าวเฉพาะในช่วงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ก็อาจย้อนโยงไปถึง “เหตุการณ์ดุซงญอ” เมื่อเดือนเมษายน ๒๔๙๑ การถูกทำให้หายสาบสูญของหะยีสุหลง เมื่อปี ๒๔๙๗ จนถึงเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง เมื่อปี ๒๕๔๗ ที่นับเป็นหลักหมายแรกของ “เหตุการณ์ไฟใต้” ในยุคนี้ แล้วตามมาด้วย “เหตุการณ์กรือเซะ” ในเดือนเมษายนปีเดือนกัน และ “เหตุการณ์ตากใบ” ในเดือนเดือนตุลาคม
อันเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่สุดในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งรัฐยอมรับ และมีการกล่าวขอโทษและจ่ายค่าเยียวยาให้แก่ครอบครัวผู้สูญเสียในทางแพ่ง ส่วนทางอาญา คดีจะสิ้นอายุความเมื่อครบ ๒๐ ปี ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๗
ขณะที่ผู้สูญเสียและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ยังต้องการความยุติธรรมในแง่การ เปิดความจริงเกี่ยวกับผู้รับผิดชอบสั่งสลายการชุมนุมและการควบคุมตัวประชาชนผู้บริสุทธิ์ ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ยังไม่จบสิ้น แม้ว่ารัฐได้ทุ่มงบแก้ไขสถานการณ์ไปแล้วกว่า ๕ แสนล้านบาท เนื่องด้วยปัญหาไฟใต้ ไม่ใช่อาชญากรรมทั่วไป แต่มีส่วนเกี่ยวโยงถึงเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง ชาติพันธุ์ พื้นที่ ซึ่งเคยเป็นรัฐปาตานีมาก่อน
หวังว่าการมองเห็นปัญหาตลอดสายอย่างทั่วถึงถ่องแท้ จะมีส่วนช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้ตามภวปัจจัย เพราะการดับไฟใต้คงไม่อาจฝากไว้ในมือรัฐเพียงลำพัง แต่เป็นภาระร่วมของผู้คนทั้งสังคม
------
นิตยสารสารคดี ฉบับ 472 กรกฎาคม 2567 ๒๐ ปี “ตากใบ” : ความทรงจำ ประวัติศาสตร์ บาดแผล
ราคาเล่มละ 195 บาท