“คุณอ่านแผนที่เก่งใช่ไหม สิบตรีเบลค” นายพลถาม
“เก่งพอตัวครับท่าน”
นายพลหมุนแผนที่บนโต๊ะหันทิศให้สิบตรีที่ยืนตรงอยู่ตรงหน้าอ่านได้ เขาชี้ตำแหน่งปัจจุบันและเลื่อนมือไปชี้ตำแหน่งที่ตั้งกองพันที่ 2 ซึ่งอยู่หลังแนวปะทะในเขตยึดครองของเยอรมัน พร้อมกับสั่งภารกิจสำคัญคือการไปแจ้งข่าวแก่นายพันให้ยับยั้งการเคลื่อนทัพบุกลึกเข้าไป เพราะนี่คือหลุมพรางของข้าศึกซึ่งอาจทำให้ต้องสูญเสียชีวิตทหารกว่า 1,600 นาย และหนึ่งในนั้นคือพี่ชายของเบลค
สายโทรศัพท์ถูกเยอรมันตัดไปแล้ว มีแต่การเดินเท้าเข้าไปแจ้งข่าวให้ทันเวลาก่อนจะมีคำสั่งบุกเท่านั้น
เบลคเก็บแผนที่กระดาษใส่กระเป๋า รับสัมภาระยังชีพ และรีบออกเดินทาง
…[กดปุ่ม Pause]…
เรากำลังดูตอนต้นเรื่องของภาพยนตร์ 1917 ซึ่งเป็นฉากมืดๆ ในห้องบัญชาการที่มีเพียงแสงไฟส่องบนแผนที่
1917 เป็นเหตุการณ์สมมุติในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การทำสงครามฆ่าล้างกันของมนุษย์ที่มีมาแต่อดีตและยังไม่เคยจบสิ้น แม้กระทั่งบนฟีดข่าวในเช้าทุกวันนี้
แต่ในยุคดิจิทัลพวกเราข้องเกี่ยวกับแผนที่ส่วนใหญ่เมื่อต้องการความช่วยเหลือในการนำทางหรือหาร้านอาหาร และด้วยแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ เราไม่ต้องอ่านแผนที่เป็น หรือสนใจว่าสภาพพื้นที่รอบๆ จะเป็นอย่างไร แค่เชื่อตามลูกศรชี้ไปจนกว่าจะมีเสียงบอก “คุณถึงจุดหมายแล้ว”
กว่าจะเป็นดิจิทัลแมปแสนสะดวกสบาย ศาสตร์แห่งแผนที่มีความเป็นมายาวนานหลายพันปี และมีผู้คนมากมายที่ทุ่มเทชีวิตให้ จนอาจรวบรวมและเรียบเรียงได้เป็นสารานุกรมหนาๆ
บนหน้ากระดาษไม่กี่หน้าต่อไปนี้ คิดว่าจะสนุกกว่า หากเราจะมาลองแกะรอยประวัติศาสตร์จากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ปรากฏบนแผนที่ พร้อมกับอ่านแผนที่ให้เก่งเหมือนสิบตรีเบลค
เกิดวันหนึ่งเซิร์ฟเวอร์ล่ม ดาวเทียมร่วง ไฟฟ้าดับ หรือทะลุมิติเวลาข้ามไปอดีต และเราโชคดีมีแผนที่กระดาษในมือ การอ่านแผนที่เป็นอาจช่วยให้เราเอาตัวรอดได้
เบื้องหลังการสร้างแผนที่นั้นต้องอาศัยทั้งศิลปะ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และการเมือง
สิ่งสำคัญที่ต้องรู้ไว้ก่อนคือ แผนที่ซ่อนความหมายและความนัยที่คนสร้างต้องการถ่ายทอดเช่นเดียวกับสื่ออื่นๆ แผนที่อาจดูเหมือนตัวแทนของความจริง แต่มันก็มีโอกาสไม่ถูกต้องหรือผิดไปจากความจริงก็เป็นได้
พร้อมแล้วเราก็เริ่มออกเดินทาง เป็นเพื่อนกับสิบตรีเบลค
----
นิตยสารสารคดี ฉบับ 474 กันยายน 2567 แกะรอยแผนที่
ราคา 195 บาท