SKU :
นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปัญญาชนผู้ล่วงลับ เริ่มตั้งคำถามดังๆ ในบทความ “ทหารมีไว้ทำไม” ทั้งยังเน้นย้ำว่า เป็นคำถามสำคัญแห่งยุคสมัยที่แทบจะหาคำถามอื่นเทียบไม่ได้
ปกที่เลือก
หมวดหมู่ : หนังสือ ,  New Arrival ,  ประวัติศาสตร์ ,  สังคมและวัฒนธรรม ,  การเมือง ,  วิชาการ , 
แบรนด์ : ฟ้าเดียวกัน
Share
1
ต้นปี 2559 นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปัญญาชนผู้ล่วงลับ เริ่มตั้งคำถามดังๆ ในบทความ “ทหารมีไว้ทำไม” ทั้งยังเน้นย้ำว่า เป็นคำถามสำคัญแห่งยุคสมัยที่แทบจะหาคำถามอื่นเทียบไม่ได้ (อาจยกเว้นเพียงคำถาม “กษัตริย์มีไว้ทำไม” ที่ขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ ประเทศไทย เมื่อปี 2563) ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น พวงทอง ภวัครพันธุ์ ก็ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับกิจการความมั่นคงภายในของกองทัพที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 2557 และเริ่มค้นคว้าวิจัย เขียนออกมาเป็นหนังสือภาษาอังกฤษชื่อ Infiltrating society: The Thai military’s internal security affairs ในปี 2564 ต่อมาได้แก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมจนกลายเป็นหนังสือภาษาไทย ในนามของความมั่นคงภายใน: การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย ในมือผู้อ่านเล่มนี้
.
ข้อเสนอสำคัญของหนังสือเล่มนี้ (ซึ่งเป็นทั้งคำตอบต่อคำถามของนิธิ และอาจจะเป็นตัวแปรที่ทำให้เด็กชายไทยเจเนอเรชั่นนี้ต้องฉุกคิดว่าโตขึ้นตนอยากจะเป็นทหารจริงหรือไม่) คือ
“ไม่ใช่การป้องกันภัยคุกคามจากภายนอกประเทศหรอก แต่คือภารกิจการป้องกันความมั่นคงภายในประเทศต่างหากที่เป็นสารัตถะ เป็นเหตุผลของการดำรงอยู่ (raison d’être) ของกองทัพไทย ความมั่นคงภายในคือภารกิจหลักของกองทัพ และเป็นเหตุผลที่ถูกใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการขยายขอบเขตอำนาจและหน้าที่ของกองทัพออกไปอย่างกว้างขวางนับแต่ยุคต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ หากไม่มีภารกิจความมั่นคงภายในนี้แล้ว กองทัพไทยแทบไม่มีภารกิจสำคัญอะไรเหลืออีกเลย ซึ่งหมายความต่อว่างบประมาณและกำลังพลจำนวนมหาศาลควรถูกตัดลดลงด้วย”
-บางส่วนจาก คำนำสำนักพิมพ์
2
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้เขียนเกิดความสงสัยเกี่ยวกับกิจการความมั่นคงภายในของกองทัพเกิดขึ้นไม่นานหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่กว่าจะเริ่มต่อจิ๊กซอว์ของเหตุการณ์ต่างๆ ได้และตัดสินใจทำวิจัยเรื่องนี้ก็เข้าสู่ปี 2560 ผู้เขียนเริ่มเสนอข้อค้นพบบางส่วนต่อสาธารณะผ่านเวทีวิชาการ บทความ และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายครั้งตั้งแต่ปลายปี 2560 เพื่อกระตุ้นเตือนสังคมให้เห็นถึงความพยายามขยายอำนาจของกองทัพเพื่อแทรกซึมและควบคุมสังคมด้วยกลวิธีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ผู้เขียนอยากจะกล่าวอ้างว่าผู้เขียนมีส่วนทำให้ชื่อ กอ.รมน. กลับมาถูกกล่าวถึงในสังคมอย่างกว้างขวางอีกครั้งหนึ่ง
...
การสังเกตเห็นความผิดปกติต่างๆ ได้นำไปสู่คำถามมากมายว่ามันเกิดขึ้นอย่างไรและเพื่ออะไร และคำตอบนั้นได้ปรากฏตัวครั้งแรกในรูปของหนังสือภาษาอังกฤษของผู้เขียนเรื่อง Infiltrating Society: The Thai Military’s Internal Security Affairs (Singapore: Yusof Ishak ISEAS, 2021) โดยในการตีพิมพ์เป็นหนังสือภาษาไทยที่ท่านถืออยู่นี้ ผู้เขียนได้ปรับปรุงและแก้ไขเนื้อหาหลายจุดด้วยกัน โดยได้ปรึกษาหารือกับสถาบัน Yusof Ishak ISEAS และได้รับอนุญาตให้ใช้เนื้อหาหลักได้โดยไม่ถือเป็นการแปล นอกจากนี้ ผู้เขียนได้รับทุนอุดหนุนการศึกษา/วิจัยเพื่อเขียนหนังสือ/ตำราจากงบประมาณรายได้ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนางานวิจัยชิ้นนี้ให้เป็นหนังสือภาษาไทย เพื่อให้นิสิตนักศึกษาและประชาชนสามารถเข้าถึงความรู้ได้สะดวกยิ่งขึ้น
...
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานที่ผู้เขียนทุ่มเทกำลังกายกำลังใจให้มากที่สุดก็ว่าได้ แต่ก็เป็นช่วงเวลาการทำงานวิชาการที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งด้วย การหมกมุ่นกับการคิดการเขียนงานวิชาการเป็นทั้งความเครียดและความสุขไปพร้อมๆ กัน … ผลของการหมกมุ่นทำให้หนังสือ Infiltrating Society ได้รับคำวิจารณ์เชิงบวกจากนักวิชาการต่างชาติหลายท่าน และยังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดของปี 2022 ของวารสาร Foreign Affairs สำหรับคนที่มีอาชีพนักวิชาการเช่นผู้เขียน การได้มีหนังสือดีๆ ออกมาสักเล่มหนึ่งเป็นความฝันที่มีมาตั้งแต่เริ่มอาชีพวิชาการ เป็นความฝันที่ไม่เคยมั่นใจว่าตัวเองจะทำได้ และผู้เขียนพบว่างานชิ้นนี้ให้ความสุขแก่ผู้เขียนมากกว่าการได้ยศถาบรรดาศักดิ์ทางวิชาการใดๆ แน่นอนว่าผู้เขียนยังใฝ่ฝันต่อว่าหนังสือเล่มนี้จะมีประโยชน์ต่อการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความยุติธรรมให้กับผู้คนในสังคมไทย รวมทั้งช่วยขยายฐานทางปัญญาของสังคมไทยให้เติบโตต่อไปได้ด้วย
-บางส่วนจาก คำนำผู้เขียน
---------------
สารบัญ
คำนำสำนักพิมพ์
คำนำผู้เขียน
ชื่อย่อ
บทที่ 1 ทำไมต้องรู้เรื่องความมั่นคงภายในของกองทัพ
บทที่ 2 แนวคิดการจัดการภัยคุกคามความมั่นคงภายใน
บทที่ 3 การสร้างความชอบธรรมให้กับกองทัพ
บทที่ 4 กำเนิดทหารนักพัฒนาจากชนบทสู่เมือง
บทที่ 5 การจัดตั้งมวลชนโดยรัฐยุคสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์
บทที่ 6 การขยายมวลชนจัดตั้งหลังการรัฐประหาร 2549
บทที่ 7 บทสรุป
ภาคผนวก
1. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์
2. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 65/2525 เรื่อง แผนรุกทางการเมืองเพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์
ประวัติผู้เขียน
บรรณานุกรม
ดรรชนี
------------------
ในนามของความมั่นคงภายใน: การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย
ผู้เขียน พวงทอง ภวัครพันธุ์
304 หน้า
ISBN ปกอ่อน
9786169430353
ISBN ปกแข็ง
9786169430360