เราจะตามหาตัวตนเดิมที่ทำหล่นหายเจอได้อย่างไร หากความป่วยทางใจได้เปลี่ยนเนื้อแท้ของเราไปแบบไม่มีวันย้อนคืน
เรเชล อาวีฟ นักเขียนสารคดีมือรางวัลแห่ง New Yorker และอดีต “ผู้ป่วยอะนอเร็กเซียที่อายุน้อยที่สุดในสหรัฐฯ” กอดเก็บประสบการณ์เจ็บปวดในวัยเยาว์ แล้วออกเดินทางไปสำรวจเรื่องราวจากเหล่า “คนแปลกหน้า” ผู้หลงลืมตัวตนและหลงทางในโลกแห่งจิตเวช กลั่นกรองเป็นบันทึกความเจ็บป่วยทางจิตและประวัติศาสตร์บาดแผลทางใจที่ได้รับเสียงชื่นชมทั่วโลก พร้อมชวนตั้งคำถามถึงความไม่ลงรอยระหว่าง “คำวินิจฉัย” อันมีกรอบเกณฑ์ กับ “ตัวตน” ของผู้ป่วยที่มีเลือดเนื้อจิตใจ
หมอหนุ่มซึมเศร้าผู้เชื่อว่าการรักษาแบบจิตวิเคราะห์ทำชีวิตตนพัง
หญิงจิตเภทชาวอินเดียผู้สวามิภักดิ์กายใจต่อพระกฤษณะ แต่ไม่เคยมีใครคิดว่านั่นคือหนทางเยียวยาเธอ
คุณแม่ผิวดำกับอาการจิตหลงผิดในสังคมคนขาวที่ “ไม่มีใครฟังเสียงฉันเลย”
เด็กสาวไบโพลาร์ที่เชื่อคำวินิจฉัยแพทย์และพึ่งยาสารพัดมาตลอดชีวิต จนไม่รู้จักตัวเองอีกต่อไป
หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เพียงเรื่องราวการต่อสู้ของผู้ป่วย แต่คือบันทึกการเดินทางอันอบอุ่นและกล้าหาญของมนุษย์ผู้มีหัวใจและไม่เคยยอมแพ้ พร้อมหยัดยืนอยู่เป็นเพื่อนเคียงข้างโดยไม่ตัดสิน และท้าทายให้เราขยายพรมแดนโลกจิตเวชไปอีกขั้น เพื่อโอบกอด คนแปลกหน้าชื่อว่าตัวเอง ที่อาจซ่อนอยู่ในตัวคุณ ฉัน หรือเราทุกคน
-------
คนแปลกหน้าชื่อว่าตัวเอง (Strangers to Ourselves: Stories of Unsettled Minds)
ผู้เขียน Rachel Aviv
ผู้แปล พุฒิธร พงษ์เจริญ
จำนวน 312 หน้า
ปีที่พิมพ์ 2567
ISBN 9786168355220