SKU :
การมองว่าความเจ็บป่วยทางจิตไม่มีความเกี่ยวข้องกับทุนนิยมเลยนั้นเป็นฐานคติที่ใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น การรักษาอาการเจ็บป่วยทางจิตจึงไม่อาจไม่เกี่ยวกับการเมืองที่ต่อต้านทุนนิยมและการเมืองเพื่อการปลดปล่อย
ปก
หมวดหมู่ : หนังสือ ,  เศรษฐศาสตร์ ,  สังคมและวัฒนธรรม ,  การเมือง ,  งานวิเคราะห์วิจารณ์ , 
แบรนด์ : Illuminations Editions
Share
Fisher ไม่ได้จะบอกว่าความเจ็บป่วยทางจิตทั้งหมดมีสาเหตุมาจากทุนนิยม เขาไม่ใช่พวกที่มีทรรศนะแบบลดทอนทางเศรษฐกิจ (economic reductionist) หรือนิยัตินิยม (determinist) แต่ประเด็นที่เขาจะบอกมีอยู่ว่า การมองว่าความเจ็บป่วยทางจิตไม่มีความเกี่ยวข้องกับทุนนิยมเลยนั้นเป็นฐานคติที่ใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น การรักษาอาการเจ็บป่วยทางจิตจึงไม่อาจไม่เกี่ยวกับการเมืองที่ต่อต้านทุนนิยมและการเมืองเพื่อการปลดปล่อย กล่าวอีกอย่างก็คือ ความพยายามใด ๆ ก็ตามที่จะรักษาโรคซึมเศร้าโดยไม่เผชิญหน้ากับทุนนิยมเป็นได้เพียงการเลี้ยงไข้หรือทำให้อาการแย่ลง (ซึ่งยิ่งทำให้บริษัทยายักษ์ใหญ่รวยขึ้น อะไรแบบนี้) เท่านั้น
ในส่วนที่สอง ผมนำงานของนักวิชาการท่านอื่น ๆ มาเสริมแนวคิดของ Fisher ในเรื่องที่ว่าทำไมความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การงาน และความเพ้อฝันเรื่องการโยนความรับผิดชอบไปที่ปัจเจกล้วนเป็นสาเหตุหลัก ๆ ที่ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้า สิ่งที่ต้องการจะสื่อในส่วนนี้ก็คือ การประเมินคุณค่าของงานเสียใหม่ การลดชั่วโมงทำงานลงขนานใหญ่ การเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมในด้านการจัดสรรกระจายทรัพยากรและความมั่งคั่งกลับสู่สังคม (redistributive justice) และการจัดตั้งการต่อสู้เพื่อล้มล้างทุนนิยม ล้วนเป็นยาต้านเศร้าที่เรานำมาใช้ได้ทั้งสิ้น
ในส่วนสุดท้าย ผมจะวิเคราะห์ลัดดาแลนด์ผ่านกรอบของโลกสัจนิยมแบบทุนและความทุกข์ทรมานทางจิต โดยถอดสารที่แสดงความต่อต้านทุนนิยมออกมาพร้อม ๆ กับชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของหนัง
คำนำ
สรวิศ ชัยนาม
-------
ยิ่งนับวัน เราก็ยิ่งให้คุณค่ากับงานมากจนเกินไปและแม้กระทั่งมองว่ามันเป็นเรื่องของความถูกผิด นี่เป็นอาการที่แสดงออกว่าเราอยู่ในโลกสัจนิยมแบบทุน สำหรับคนจำนวนไม่น้อยในศตวรรษที่ 20 การลดวันทำงานหมายถึง ‘ความก้าวหน้าและปลดปล่อยมนุษย์เป็นอิสระ’ เสรีภาพในตอนนั้นยังรวมถึงเสรีภาพจากการทำงาน ผู้คนเฝ้าฝันถึงการได้ทำงานสัปดาห์ละ 15 ชั่วโมงหรือสัปดาห์ละสามวันโดยที่งานส่วนใหญ่ถูกจัดการโดยระบบอัตโนมัติ
แต่มาวันนี้ทุกอย่างกลับตาลปัตร เราอยากทำงานหนักกว่าเดิม เรามายืดอายุการทำงานกันเถอะ! ในเมืองไทยถึงกับมีการฉลองด้วยซ้ำตอนที่มีการขยายอายุเกษียณจากเดิม 60 ปีไปเป็น 63 ปี
David Graeber ตั้งข้อสังเกตว่า ‘เราได้กลายเป็นอารยธรรมที่อิงกับการทำงานไปแล้ว แล้วไม่ใช่แค่ “งานที่ให้ผลผลิต” ด้วยนะ แต่คือมองงานว่าเป็นเป้าหมายและสิ่งที่มีความหมายในตัวมันเองกันเลยทีเดียว เราหันมาเชื่อว่าใครก็ตามไม่ว่าจะชายหรือหญิงที่ไม่ขยันทำงานที่ตัวเองก็ไม่ได้จะชอบมากเป็นพิเศษคือคนไม่ดีที่ไม่สมควรได้รับความรัก ความเอาใจใส่ หรือความช่วยเหลือใด ๆ จากชุมชนที่ตนอาศัยอยู่’
เราได้ยินคนพูดไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งว่าคนรักของเขาเป็นคนดีเหลือเกินเพราะขยันทำมาหากิน พูดอีกอย่างก็คือ เรากำลังอยู่ภายใต้อำนาจกดขี่ของการทำงาน แล้วเราก็ดันเสพติดมันซะด้วย เราไม่สามารถหยุดทำงานได้เฉย ๆ Josh Cohen กล่าวไว้ว่า ‘การที่เรายุ่งอยู่ทั้งปีทั้งชาติมันมีสาเหตุมาจากวัฒนธรรมที่ดูถูกหรือลดค่าความต้องการที่จะหยุดทำงาน ลักษณะพื้นฐานทางสังคม (ethos) ของอาการบ้างานซึ่งทำให้คนกระวนกระวายแข่งขันกัน ทำให้ชายและหญิงนับล้าน ๆ คนใช้เวลาส่วนมากของชีวิตไปกับการทำงาน’ “หยุดไม่ได้ ทำไปเรื่อย ๆ” กลายมาเป็นคติประจำใจของเรา ‘งานและชีวิตกลายเป็นสิ่งที่ไม่แยกออกจากกันได้’
__________________
เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์ โดยสรวิศ ชัยนาม
จำนวน 248 หน้า