โครงสร้างนิพนธ์ซ้ำซากจากสำนึกของกวี เป็นสมการทางภาษาที่ซับซ้อน ลึกซึ้ง และรุนแรง
งานเขียนชิ้นสำคัญของ สหรัฐ พัฒนกิจวรกุล เรื่องเล่าทั้งหมดในเล่มนี้เป็นมหากาพย์แห่งความรู้สึก มีความเศร้าโศกและซับซ้อน อยู่ในซอกหลืบที่ลับเร้น ซ่อนเรื่องราวความรัก อารมณ์ใคร่ ที่เปล่งท่วงทำนองกว่าหนึ่งแสนถ้อยคำผ่านบทบันทึกเชิงกวีนิพนธ์จากสำนึกของผู้เขียน
เป็นงานที่ปอกเปลือกความอีโรติกในระดับเข้มข้นสุดวาบหวาม เปลือยเปล่าสิ่งคิดฝัน
เป็นงานที่เล่าเรื่องล่วงล้ำสวรรค์ ละเมิดนรก
ท้าทายความสำส่อนทางศีลธรรมโดยไม่ยอมจำนนต่อความจริงหรือความลวงตรงหน้า
เรื่องเล่าใน ‘มนุษย์นิพนธ์’ มีทั้งหมด [120] บท ในบางบทจะมีบทกวีแทรกอยู่ โดยจัดหน้าเลย์เอ้าท์แยกเป็นพิเศษเพื่อให้เห็นเด่นชัดว่าเป็นบทแทรก หากนับเพียงบทกวีที่แทรกที่อยู่ก็สามารถตีพิมพ์แยกออกมาเป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มได้โดยง่าย
ความหนา 432 หน้า ทุกหน้าเต็มไปด้วยตัวอักษรที่อ่านสบายตาด้วยการจัดเลย์เอ้าท์ที่ลงตัว แต่ละบทอ่านจบในตัวของมันเอง เมื่อแต่ละบทถูกออกแบบให้เป็นเอกเทศในตัวเองแล้ว ผู้อ่านจึงมีเสรีภาพในการอ่านโดยแท้ เพราะจะเลือกอ่านจากบทไหนก่อนก็ได้ ไม่ต้องเรียงลำดับ
แต่ละบทใน ‘มนุษย์นิพนธ์’ มีความสั้นยาวไม่เท่ากัน แต่ละบทเต็มไปด้วย ‘คำ’ ที่แสดงชั้นเชิงทางภาษาของผู้เขียนอย่างชัดเจน ชั้นเชิงที่ว่าล้วนได้รับอิทธิพลจาก 'รงค์ วงษ์สวรรค์, โกวเล้ง และมีกลิ่นแบบกวียุคบีท (beat generation) อย่างอัลเลน กินสเบิร์ก (Allen Ginsberg)
‘มนุษย์นิพนธ์’ ยังแสดงให้เห็นถึงกลวิธีการเล่าเรื่องแบบ ‘Stream of Consciousness’ เป็นการเล่า-ไหล ความคิดจากภายใน เป็นสำนึกที่หลากหลายลื่นไหลไม่สิ้นสุด ในทางปรัชญาพอจะอธิบายได้ว่า เพราะความคิดไม่เคยหยุดนิ่ง มันเคลื่อนไหวแตกตัว กระจัดกระจาย จากความคิดหนึ่งเชื่อมโยงไปสู่อีกความคิดหนึ่ง การเขียนที่มีลักษณะของ ‘กระแสสำนึก’ จึงเป็นการขุดคุ้ยสำนึกที่อยู่ภายในขึ้นมาเล่าให้ไหล โดยมีเป้าประสงค์เพื่อค้นหาความจริงบางอย่าง!
‘มนุษย์นิพนธ์’ ไม่ได้ให้คำตอบสำเร็จรูป ปฏิเสธคำคมสามานย์ และไม่เทิดทูนบูชาประสบการณ์ชีวิตสำเร็จรูป