หนังสือมี 2 เวอร์ชัน
1. ปกแข็งสันโค้งมีแจ็คเก็ตหุ้ม ปกภาพวาดสี่สี ผลงานของวนะ วรรลยางกูร เนื้อในกระดาษปอนด์ ราคา 1,120 บาท
ISBN 9786168300053
2. ปกแข็งสันตรงไม่มีแจ็คเก็ต ปกภาพถ่ายขาวดำ ผลงานของศุภชัย เกศการุณกุล เนื้อในกระดาษปรูฟ ราคา 619 บาท
ISBN 9786168300060
ส่วนหนึ่งจากหมายเหตุบรรณาธิการ
“แกงหม้อใหญ่ ใจเย็นๆ”
“เดือนกันยายน ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะการติดเชื้อหลังผ่าตัด เขาแจ้งมาว่าขอเพิ่มต้นฉบับอีกประมาณสองหน้าสุดท้าย แต่ในที่สุดแล้ว เขาเพิ่มมาอีกถึงหนึ่งบท ระหว่างนั้นเขายืนยันกับข้าพเจ้าว่าไม่ต้องห่วงกังวลใด เขาได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลฟรี “ผมได้สถานะพักพิง…จึงได้สิทธิเทียบเท่าพลเมืองเขาในทุกด้าน ทุกวันนี้อยู่สบาย ไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน จึงเป็นช่วงที่มีแรงทำงานเขียนได้เต็มตามที่มีแรงบันดาลใจ สรุป ผมสบายดีครับ เห็นน่าห่วงก็แต่ทางคุณที่อุตลุดทะลุแก๊สกันจนมอมแมม”
“แต่ปลายเดือนนั้นเขาก็เปรยมาราวกับคนที่ปลงใจ ข้าพเจ้าใจหาย
“ผมไม่รู้จะอยู่ทันเห็นหนังสือเล่มนี้ออกได้หรือเปล่า ยังไงก็ขอบคุณนะครับ”
แล้วเขาก็ยังคงเพิ่มเติมเนื้อหาส่งมาอีกรอบ
และอีกรอบสุดท้าย
“หลังจากนั้นเขาก็พ้นอันตรายและได้ออกจากโรงพยาบาล วันที่ 20 พฤศจิกายน 2021 ข้าพเจ้าแจ้งเขาว่า ข้าพเจ้าเอดิตต้นฉบับเสร็จแล้ว โดยทำไปพร้อมจัดหน้าไปเบ็ดเสร็จในตัว และลงตัวที่ 800 หน้าถ้วน หลังจากนั้นจนถึงตลอดช่วงหยุดเทศกาลปีใหม่และหลังเทศกาลอีกราวสิบวัน ข้าพเจ้าทยอยส่งให้เขาตรวจทานการแก้ไขของข้าพเจ้าไปทีละบทพร้อมลิสต์คำถาม ในช่วงแรกเขาดูสดชื่นกระปรี้กระเปร่า ข้าพเจ้าเห็นเขาโพสต์ภาพเดินเที่ยวงานปีใหม่อย่างสบายใจในเฟซบุ๊ก
“เมื่อครั้งที่เขาเริ่มป่วย ข้าพเจ้าเคยถามเขาว่าจะเร่งกำหนดการให้เร็วขึ้นไหม เขายังยืนยันให้ทำไปตามแผน แต่เมื่อเขาทรุดไปเช่นนี้ ข้าพเจ้าคงรอไม่ได้ ตอนนั้นเหลือแต่หน้าหมายเหตุบรรณาธิการ ที่ปกติข้าพเจ้ามักรอไว้เขียนในนาทีสุดท้าย
lost เขาแปลว่าแพ้
แต่ข้าพเจ้าแปลว่าคว้าง
“ข้าพเจ้าเขียนไปแค่สองประโยคนั้นแล้วก็ได้แต่นั่งร้องไห้ ข้าพเจ้าไม่สามารถเขียนต่อได้ จนกว่าจะรู้ผลการลุ้นในช่วงสองวันนั้นว่าเขาจะฟื้นกลับมาหรือไม่
คำว่า lost ในสำนวน lost generation คือประเด็นแรกที่เราเคยคุยกันในระหว่างการแก้ไข เขาเรียกตัวเองว่ารุ่นลอสต์เจเนอเรชั่นเพราะมองว่าเป็นคนรุ่นที่แพ้มาตั้งแต่ 6 ตุลา 19 ข้าพเจ้าบอกเขาว่าอันที่จริง lost ใน lost generation อาจไม่เชิงว่าหมายความอย่างนั้น เพราะมันหมายถึงคนรุ่นที่มาทีหลังการล่มสลายของความคิดความเชื่อในรุ่นก่อนหน้า และทำให้รุ่นที่ตามมารู้สึก lost ในความหมายที่ข้าพเจ้าเคยแปลว่า คนรุ่นคว้าง และจะว่าไปแล้วคนรุ่นข้าพเจ้าต่างหากที่เคยถูกคนรุ่นเขาแสดงความเวทนาว่าเป็นคนรุ่นลอสต์เจเนอเรชั่น แต่เขากลับหัวเราะและพูดอย่างไม่ไว้ฟอร์มไว้ทีท่า ว่าผมก็ใช้ไปเรื่อยครับ ไม่ได้รู้ที่มาอะไรมาก แต่ผมน่ะรู้สึกว่าคนรุ่นผมต่างหากที่ควรรู้จักเจียมตัวว่าเราน่ะคือพวกขี้แพ้ เราตกลงกันว่าข้าพเจ้าจะคงการใช้ของเขาแบบนี้เพราะถือว่าเขาย่อมมีสิทธิใช้ตามที่ตัวเองเลือกได้ เพียงแต่จะปรับคำให้รัดกุมขึ้นแต่ต้นว่าเป็นการจงใจเลือกใช้ในความหมายนี้”
…
“ข้าพเจ้าแซวว่าเป็นนักเขียนใหญ่รุ่นนี้แล้ว ให้มีคนจดตามคำบอกดีไหม เขายืนยันว่าไม่ได้ นักเขียนต้องเขียนเอง ต้องลงมือเขียนด้วยตัวเอง เขาพูดถึงมันเหมือนเป็นการงานอันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นศักดิ์ศรี
แล้วสามทุ่มกว่า วันที่ 21 มีนาคมของเขา ตีสามกว่าวันที่ 22 มีนาคม 2022 ของข้าพเจ้า เขาก็จากไป เขาไม่ทันได้ส่งคำนำ และข้าพเจ้าไม่ทันได้รับสาย…
ข้าพเจ้าได้แต่รวบรวมสิ่งที่ตกค้าง จะขัดขืนทุกความรู้สึกค้างคาต่อกันให้ได้ ข้าพเจ้าได้รับมอบข้อเขียนที่เขาพยายามเขียนระหว่างอยู่โรงพยาบาล ชิ้นหนึ่งที่ชื่อ “ครูการประพันธ์” นั้น คุณภัทราบอกว่าเขาเคยเปรยไว้ว่าอาจนำมารวมในเล่มนี้ ส่วนอีกชิ้นชื่อ “บ้าน” เป็นงานที่บุตรชายคือคุณวนะ เล่าว่าเขาเขียนในภาวะที่สับสนแยกแยะไม่ได้ ซึ่งข้าพเจ้ากลับรู้สึกว่ามันงดงามราวบทกวี และอีกชิ้นคือบทกลอนอวยพรวันเกิดที่เขาเขียนให้มิตรผู้หนึ่งซึ่งได้คุยกับเขาถัดจากข้าพเจ้าหนึ่งวัน แม้เป็นงานที่เขียนมอบให้ส่วนตัว แต่ผู้รับยินดีอนุญาตให้นำมาตีพิมพ์ในฐานะข้อเขียนชิ้นสุดท้าย ข้าพเจ้านำทั้งสามชิ้นนั้นมารวมไว้ในบทที่ข้าพเจ้าตั้งชื่อเป็นอื่นไปไม่ได้—บทสุดท้าย และนำลายเซ็นครั้งสุดท้ายของเขาท้ายบทกลอนนั้น มาตีพิมพ์ไว้ในหน้าสุดท้ายของเล่ม ให้เป็นลายเซ็นจากนักเขียนแด่ผู้อ่านที่เฝ้ารอหนังสือเล่มนี้ของเขา”
“สำหรับชื่อหนังสือ ต้องเนรเทศ เขาเป็นคนตั้งไว้ ในช่วงหนึ่งเขาเคยปรึกษามาว่าควรเปลี่ยนหรือไม่ ข้าพเจ้าตอบว่าชื่อที่เขาตั้งมานี้ข้าพเจ้าเห็นว่าเหมาะมากแล้ว คำว่า “เนรเทศ” อาจดูมีนัยเก่าโบราณกว่า “พลัดถิ่น” หรือ “ลี้ภัย” แต่มันลงตัวกับคำว่า “ต้อง” ซึ่งได้ทั้งความหมายแบบสำนวนเก่าอย่าง “ต้องโทษ” “ต้องอาญา” คือถูกกระทำหรือถูกลงทัณฑ์ และได้ทั้งความหมายแบบทั่วไปว่าคือความจำเป็นให้กระทำ มันจึงเป็นคำที่ให้ทั้งนัยยะของผู้ถูกกระทำและผู้ตัดสินใจกระทำด้วยตนเอง เป็นฐานะก้ำกึ่งระหว่าง agent และ victim เหมือนตัวเขาที่ถูกกระทำด้วยคดีความต่างๆ จนต้องหลบภัย-ลี้ภัย แต่ขณะเดียวกันเขาก็เป็นผู้ตัดสินใจกระทำในแง่ที่เขาตัดสินใจเลือกที่จะออกไป ไม่ยอมอยู่อย่างก้มหัวแถวนี้ สำหรับข้าพเจ้า มันคือการตัดสินใจสู้ทั้งที่อยู่ในฐานะผู้หนี ดังนั้นในแง่นี้ “ต้องเนรเทศ” จึงทั้งลึกซึ้งทั้งเจ็บนัก”
“ไม่มีอำนาจใดจักฆ่าเขาได้ และยิ่งไม่มีใคร หรืออำนาจใด จักฆ่าความทรงจำของเราที่มีต่อเขา
à tout à l’heure ค่ะคุณวัฒน์, à tout à l’heure,
ไอดา
29 มีนาคม 2022”
----
ต้องเนรเทศ
โดย วัฒน์ วรรลยางกูร
พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2565
จำนวนหน้า 824 หน้า