Box set ‘ไตรภาคแก่งคอย’ ประกอบด้วยนวนิยายปกอ่อนสามเล่ม 1. ลับแล, แก่งคอย 2. ลักษณ์อาลัย 3. จุติ และ Booklet พิเศษ
อธิบายผลงานและกระบวนการทำงานแปลแบบสองภาษา ไทย-อังกฤษ จัดทำโดย soi literary
ผลงานออกแบบรูปเล่มและ Box set ทั้งหมดโดย กิตติพล สรัคคานนท์
ขนาดหนังสือ 14.5 x 21 เซนติเมตร เย็บกี่ ไสกาว มาในกล่องสวมแข็งแรง หุ้มฟิล์มใสอย่างดี
----------------------------------
ไตรภาคแก่งคอย
ตอนคิดพิจารณาตัดสินใจจัดทำบอกซ์เซต ‘ไตรภาคแก่งคอย’ คือราวปี 2560 คิดว่าอยากทำเป็นของขวัญให้ตัวเองรวมถึงนักอ่าน นักสะสมชาวไทย เนื่องจากนวนิยายแต่ละเล่ม ทั้ง ลับแล, แก่งคอย ลักษณ์อาลัย และจุตินั้น จัดพิมพ์ต่างวาระ ต่างรูปแบบ ต่างการออกแบบ ใจจึงอยากจะจัดทำให้นวนิยายทั้งสามเล่มเข้าชุดกันเสีย ภายใต้แนวความคิดและความมุ่งหมายในทิศทางเดียวกัน
ที่ว่าเป็นของขวัญให้ตัวเองนั้น ผมเผชิญคำถามสำคัญเช่นกันว่า จะจัดทำไปเพื่ออะไร มีความจำเป็นอย่างไรจะต้องเข้าเซตกันเช่นนั้น และคำถามสำคัญที่สุด ‘ไตรภาคแก่งคอย’ มีความสำคัญอะไรกับวรรณกรรมไทย หรือนักอ่าน นักการศึกษา นักสะสมไทยขนาดนั้นหรือ?
แรกทีเดียวนวนิยายทั้งสามเรื่องถูกเขียนขึ้นต่อเนื่องกันไป รวมปีการทำงานเขียนของผู้เขียนได้ 10 ปี (นับตั้งแต่เริ่มเขียน ลับแล, แก่งคอย จนจบที่เขียน จุติ) กล่าวคือนับตั้งแต่ปี 2549-2558 ตัวผู้เขียนอยู่ในวัย 30 ต้น จนจบที่วัย 40 ปี ดังนี้จึงนับได้เป็นหนึ่งทศวรรษ ในช่วงวัยส่องประกายเต็มแรงบันดาลใจ เป็นช่วงเวลาชีวิตที่เร่าร้อนคุคั่ง เป็นช่วงชีวิตหนึ่งของผู้เขียนที่บากบั่น พากเพียร และเติบโตอย่างยิ่งทางการประพันธ์ และในฐานะนักประพันธ์ไทย
ในส่วนตัวงานทั้งสามเล่ม คงกล่าวโดยย่นย่อได้ว่า ได้รับการยอมรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่งจากทั้งนักอ่าน นักการศึกษา และรางวัลทางวรรณกรรม เฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ ลับแล, แก่งคอย ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ปี 2552 (ลักษณ์อาลัย กับ จุติ เองก็เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์เช่นกัน) นวนิยายทั้งสามเล่มต่างมีเส้นทางของมันในอนาคต ดังที่ ลักษณ์อาลัย ได้เป็นหนังสือในดวงใจของนักอ่าน นักเขียน และนักการศึกษาวรรณกรรมอยู่ตามสมควร ส่วนจุตินั้น กำลังจะกำเนิดในร่างใหม่ แปลเป็นภาษาอังกฤษ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Penguin Random House SEA เดือนมีนาคม ปี 2566 นี้ ลับแล, แก่งคอย เอง ก็อาจได้เห็นเป็นภาพยนตร์ชุดฉายทางสตรีมมิงออนไลน์ในอนาคต (อยู่ระหว่างการเจรจา)
ผู้เขียนกล้ากล่าวว่า ตัวงานทั้งสามเรื่องใน ‘ไตรภาคแก่งคอย’ เป็นหมุดหมายหนึ่งของวรรณกรรมไทย ได้สร้างสรรค์ภูมิทัศน์หนึ่งขึ้นแล้วในโลกวรรณกรรม และจะดำรงอยู่สืบไป ไม่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่จะได้ถูกอ่านผ่านการแปลเป็นภาษาอื่นๆ ในฐานการสร้างสรรค์วรรณกรรมท้องถิ่นที่มีต่อการรับรู้ของวรรณกรรมโลกต่อไป
ย่อหน้าแรกของ ลักษณ์อาลัย เขียนไว้ว่า “ของขวัญที่ดีที่สุดที่พ่อจะมอบให้กับลูกชายได้ คือการที่พ่อตายจากไปในช่วงที่ลูกชายยังอยู่ในวัยหนุ่มแน่น” เช่นที่ในจุติได้เสนอแนวคิดที่ว่า “จะต้องมีสิ่งหนึ่งตายไปเพื่อให้สิ่งหนึ่งได้เกิดขึ้น” “จุดจบของเรื่องราวและความตายของตัวละคร เป็นความตายเพื่อมอบชีวิตให้ผู้อ่าน” หนึ่งทศวรรษในวัย 30 ต้นของผู้เขียนที่พากเพียร คร่ำเคร่ง และโลดโผนผ่านกาลเวลากรำงานจนรู้สึกตัวอีกครั้งในวัย 40 นั้น ผู้เขียนแหวกว่าย เผชิญวิบาก ทั้งสุขทุกข์และสำราญทางการประพันธ์ ยุ่งวุ่นวายอยู่กับกระบวนการเช่นที่ตัวละครเอกใน ลับแล, แก่งคอยของผู้เขียนกล่าวไว้ว่า “สกัดความลวงออกไป เหลือไว้เพียงความงาม”
10 ปีดังกล่าวนับเป็นช่วงเวลาและชีวิตในการสร้างสรรค์งานที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของผู้เขียน
‘ไตรภาคแก่งคอย’ จัดทำในบอกซ์เซตเสร็จสิ้นปลายปี 2565 นี้ จึงเป็นของขวัญที่ดีที่สุดที่นักเขียนคนหนึ่งจะมอบให้กับผู้อ่านได้
ด้วยความขอบคุณและซาบซึ้งยิ่ง
อุทิศ เหมะมูล