SKU : 9786168215630
เริ่มต้นจากการตั้งคำถามเชิงปรัชญาต่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปสู่การศึกษาที่กว้างขึ้นทางสังคมศาสตร์ และส่วนหนึ่งมนุษยศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการทางสังคม
หมวดหมู่ : หนังสือ ,  เทคโนโลยี ,  สังคมและวัฒนธรรม ,  วิทยาศาสตร์ , 
แบรนด์ : Illuminations Editions
Share
“บูรณาการความรู้” “สหวิทยาการ” “การข้ามสาขาวิชา” ดูจะเป็นคำยอดนิยม สำหรับการสร้างจุดขาย ทั้งแก่นโยบายอุดมศึกษา การวิจัย หลักสูตร ฯลฯ ในรอบสองถึงสามทศวรรษที่ผ่านมา คำเหล่านี้ดูท่าจะสะท้อนว่า แม้สาขาวิชาแต่ละอย่างจะสำคัญ แต่ก็ไม่เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหาที่โลกร่วมสมัยต้องเผชิญ และแม้การบูรณาการเป็นไปได้หลายแบบ แต่การบูรณาการที่มักเป็นที่พูดถึงคือ ฟากหนึ่ง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับอีกฟากหนึ่ง สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
อย่างไรก็ดี ก็มีความยุ่งยากภายใต้ม่านอันสวยงามของคำว่าบูรณาการนั้น เช่น อำนาจทางความรู้ที่ไม่เท่าเทียมกัน กล่าวคือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นไปในทางประยุกต์ ดูจะมีบทบาทนำมากกว่า ทั้งในแง่ของการเป็นคำอธิบายหลัก และการบริหารจัดการ อีกทั้งเป็นเป้าประสงค์หลัก โดยที่สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เป็นแค่ส่วนประกอบที่ทำให้เกิดการยอมรับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น หรือเป็นลูกไล่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง บทบาทของสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ได้กลายเป็นเครื่องมือให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเดินทางสู่เป้าหมายของการเกิดประโยชน์ใช้งานเท่านั้นเอง
อีกด้านหนึ่ง ราวกับการโต้กลับ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ก็รื้อถอนการอ้างถึงความเชื่อว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหนทางสู่ความจริงเพียงเจ้าเดียว ดังที่ความรู้ในโลกร่วมสมัยมีความไม่แน่นอนสูงเสียจนมีการถามท้าการอ้างความถูกต้องของผู้เชี่ยวชาญ และการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองขับเคลื่อนก็เป็นที่กังขาอย่างสูงยิ่ง คำถามเชิงจริยธรรมที่ข้องเกี่ยวกับการอยู่รอดของความเป็นมนุษย์และสรรพสิ่งก็เป็นประเด็นด้วยเช่นกัน โดยนัยนี้เอง บทบาทเชิงวิพากษ์ของสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงมีความต้องการสูงขึ้น แม้จะไม่ก่อให้เกิดโภคผลแบบจับต้องได้ในทันที แต่ก็เปิดพื้นที่แก่ประชาธิปไตย และเรียกร้องบทสนทนาระหว่างสองฟากความรู้นี้ ให้ข้ามพ้นแค่การหักล้าง แต่ไปสู่การร่วมสร้างอย่างเท่าเทียมกัน
คำว่า STS มักจะโผล่ขึ้นมาในบริบทเช่นนี้ และทางที่จะเดินไปต่อสำหรับการร่วมสร้างนั้นก็เกี่ยวข้องกับคำถามว่า STS คืออะไร? คำตอบนี้ ทั้งในส่วนของประเทศไทยและระดับโลก มีอยู่สองความหมายด้วยกัน แบบแรก “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม” (Science, Technology and Society) ที่ค่อนข้างเป็นการขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติการ กล่าวคือ ในประเทศไทย ตลอดช่วงเวลาแทบจะครึ่งศตวรรษ มีการทำงานเพื่อสร้างเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับชุมชน สร้างแพทยศาสตร์และเภสัชศาสตร์ที่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์และสังคม สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคม สร้างกระบวนการวิทยาศาสตร์ในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมโดยภาคประชาชน ฯลฯ ความพยายามที่อยู่ที่ขอบแดนของสาขาวิชาเหล่านี้ล้วนดำเนินการไปด้วยหัวจิตหัวใจของการร่วมสร้างในแบบ STS แม้จะไม่ได้รู้จักคำว่า STS ก็ตามที (หรืออาจจะเรียกว่าผู้มาก่อนกาลของ STS ด้วยซ้ำ)
อย่างไรก็ดี ภาคปฏิบัติการก็ยังไม่เพียงพอ เราก็ยังต้องการ STS ในอีกแบบหนึ่งมาประกอบด้วย
อีกแบบหนึ่งของ STS ซึ่งเริ่มคุ้นหูมากขึ้นในระยะหลังคือ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา” (Science and Technology Studies) ซึ่งมีความเป็นวิชาการมากกว่า แนวทางนี้เริ่มต้นจากการตั้งคำถามเชิงปรัชญาต่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปสู่การศึกษาที่กว้างขึ้นทางสังคมศาสตร์ และส่วนหนึ่งมนุษยศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการทางสังคมที่สถาปนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์ ระบบระเบียบและสถาบันที่เกี่ยวข้อง
แนวทางนี้เกิดมาได้ประมาณสองถึงสามทศวรรษในประเทศไทย และเป็นที่นิยมและต้องการมากขึ้นในระยะหลังนี้ อีกทั้งเผยแพร่ผ่านหนังสือหลายเล่มในพากย์ไทยที่จะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ อย่างไรก็ดี ก็ต้องกล่าวตามจริงว่า STS ในทางวิชาการนี้ เหมือนกับเป็นดินแดนที่เพิ่งบุกเบิก เปิดไปสู่อาณาบริเวณที่กว้างใหญ่ และคาบเกี่ยวกับสาขาวิชาที่สถาปนาแล้วและกรณีศึกษาอันหลากหลาย สำนักคิด STS จึงมีอยู่มากมายที่แตกต่างกัน จึงยากที่จะมีใครกล่าวถึงได้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ การกล่าวถึง STS ในบางครั้งจึงเน้นที่สำนักคิดบางแห่งเป็นหลัก ตามความถนัดและความรู้จัก จนอาจละเลยที่เหลือโดยไม่ตั้งใจ และอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจไขว้เขวไปได้ว่านั่นคือทั้งหมดแล้วก็เป็นได้
หนังสือของเซร์ฆิโอ ซิสมอนโดเล่มนี้ จึงสำคัญในฐานะของการสำรวจภูมิทัศน์ของพื้นที่ทางความคิดบุกเบิกใหม่อันกว้างใหญ่นี้ โดยมีข้อเด่นคือ พยายามเรียบเรียงสำนักคิดต่าง ๆ ภายใต้ร่ม STS อันกว้างขวางให้ครบถ้วนและกระชับมากที่สุด กับแสดงให้เห็นกระแส STS สองแบบดังที่ได้กล่าวไปแล้วอย่างสัมพันธ์กัน อีกทั้งมีกรณีศึกษาประกอบ ให้ผู้อ่านเข้าใจว่า STS ที่ดีย่อมไม่อาจแยกขาดจากปัญหาจริง
ความดีดังกล่าวนี้สอดคล้องความมุ่งมาดปรารถนาของผู้แปลคือ ต้องการให้มีหนังสือสักเล่มหนึ่ง เป็นจุดเริ่มต้นที่พอจะครอบคลุมเนื้อหาทางทฤษฎีที่หลากหลายของ STS ได้มากเพียงพอ และประมวลแนวทางและวิธีวิทยาจำนวนหนึ่งที่แตกต่างกัน โดยไม่ให้น้ำหนักกับบางอย่างมากหรือน้อยเกินไป
หนังสือในแนวทางนี้จะช่วยให้ผู้อ่านมีเครื่องไม้เครื่องมือในทาง STS เพียงพอสำหรับการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่แตกต่างหลากหลายอย่างมากเช่นกัน โดยไม่ลดทอนให้เหลือเพียงแค่ความสอดคล้องกับบางกรอบทฤษฎีที่เป็นที่นิยมกัน แล้วให้ผู้อ่านสามารถไปต่อกับแนวทางที่ต้องเองสนใจและใช้การได้
-บางส่วนจากคำนำผู้แปล
--------------------
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา: ความรู้ฉบับเบื้องต้น
แปลจาก An Introduction to Science and Technology Studies, Second Edition by Sergio Sismodo
ผู้เขียน Sergio Sismodo
แปลโดย ปกรณ์ เลิศเสถียรชัย
บรรณาธิการแปลโดย ชาญชัย ชัยสุขโกศล และกิตติศักดิ์ โถวสมบัติ
จำนวน 376 หน้า
สำนักพิมพ์ Illumination Editions
ปีที่พิมพ์ 2023
ราคา 495 บาท
ISBN 9786168215630